การเตรียมตัวเป็นคุณแม่ยุคใหม่

สตรีมีครรภ์ต้องดูแลสุขภาพกายและใจให้ดี เพื่อที่ลูกจะได้แข็งแรงและมีพัฒนาการที่เหมาะสมตลอด 9 เดือนที่อยู่ในท้องแม่ ดังนั้นเมื่อทราบแน่ชัดว่าตั้งครรภ์ ผู้เป็นแม่จึงต้องดูแลตนเองให้มากขึ้น เช่น รักษาความสะอาดของร่างกาย ไม่ใส่รองเท้าส้นสูงจนเกินไปเพื่อป้องกันการหกล้ม ซึ่งอาจทำให้แท้งได้ ส่วนเรื่องการทำงานนั้น ก็ยังทำได้ตามปกติแต่ต้องไม่ใช่งานหนักจนเกินไป และต้องระวังเรื่องการกินยา ถ้าป่วย ควรไปพบแพทย์และกินยาตามที่แพทย์สั่ง ห้าม ซื้อยากินเองเด็ดขาด เพราะยาบางอย่างอาจมีผลกระทบต่อลูกในท้อง

ส่วนการบำรุงร่างกายให้แข็งแรงนั้น คุณแม่ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง จำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม ตับ อาหารที่มีเกลือแร่และวิตามินสูง เช่นผัก และ ผลไม้สด และควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และหากแพทย์ให้ยาบำรุงมากิน ก็ต้องกินให้ครบอย่าได้ขาด อาหารที่คุณแม่ควรละเว้น อาหารที่มีรสจัด ของหมักดอง น้ำชา กาแฟ และอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

ในระหว่างการตั้งครรภ์ สตรีมีครรภ์ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากการนอนหลับพักผ่อนในเวลากลางคืนแล้ว สตรีมีครรภ์ควรนอนพักหลังอาหารกลางวันสัก ครึ่ง ถึง 1 ชั่วโมง และทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ และที่จะลืมได้เลยคือสตรีมีครรภ์ต้องไปตรวจครรภ์ตามนัดทุกครั้ง

การเตรียมตัวเป็นคุณแม่ยุคใหม่ คือการดูแลเอาใจดูแลสุขภาพทั้งของตัวเองและลูกในครรภ์ให้ดี เพื่อที่ลูกจะได้เกิดมาสมบูรณ์แข็งแรง เป็นคนคุณภาพของครอบครัวให้พ่อแม่ได้ชื่นใจ

ภาวะเสี่ยงของสตรีมีครรภ์

ภาวะเสี่ยงของสตรีมีครรภ์ หมายถึงการตั้งท้องที่ผิดปกติซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับแม่และลูกในท้อง ภาวะเสี่ยงของสตรีมีครรภ์ มี 5 ประเภทด้วยกันคือ
  1. ประวัติของคู่สมรสและญาติทั้งสองฝ่ายว่า มีโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาสู่ลูกได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคเลือดจาง นอกจากนี้คุณแม่ที่มีประวัติมีลูกยาก มีประวัติว่าเคยแท้งบุตร และคุณแม่ที่ท้องมาแล้วเกิน 4 ครั้ง ก็อยู่ในกลุ่มอาจเกิดภาวะเสี่ยงได้เช่นกัน
  2. อายุของคุณแม่ ถ้าตั้งท้องครั้งแรกขณะแม่อายุน้อยกว่า 15 ปี จะเกิดอันตรายต่อแม่และลูกเพิ่มขึ้น 6 เท่า ขณะที่ถ้าเป็นการตั้งท้องครั้งแรกที่แม่อายุเกิน 35 ปี ทารกจะมีโอกาสเป็นโรคปัญญาอ่อน
  3. ลักษณะร่างกายของคุณแม่เอง ถ้าแม่ตัวเล็ก สูงน้อยกว่า 140 เซนติเมตร ช่องเชิงกรานจะแคบทำให้คลอดยาก หรือมีกระดูกสันหลัง เอว หรือสะโพกบิดเบี้ยว มีโอกาสที่ช่องเชิงกรานจะผิดรูปทำให้คลอดได้ยากเช่นกัน
  4. ภาวะโรคประจำตัวหรือโรคที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว ที่อาจกำเริบขึ้นถ้ามีครรภ์ เช่น โรคหัวใจโต หัวใจรั่ว ความดันสูง หืด เนื้องอกมดลูกหรือรังไข่ เป็นต้น
  5. อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งท้อง เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือ ท้องไม่โต เด็กไม่ดิ้น น้ำหนักตัวแม่ไม่เพิ่มตามเกณฑ์ ถ้าเพิ่มน้อยไปแสดงว่าทารกหรือแม่ไม่สมบูรณ์ ถ้าเพิ่มเร็วไปอาจเป็นครรภ์แฝด หรือครรภ์เป็นพิษ หรือคุณแม่ที่มีระดูขาวข้นเหม็น แสดงว่าอาจมีการอักเสบในช่องคลอด รวมทั้งอาการมีไข้ ก็ต้องให้ความสนใจเพราะเป็นสัญญานบ่งบอกถึงการติดเชื้ออักเสบ

การรู้ถึงภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ จะมีประโยชน์อย่างมากเพื่อเตรียมการช่วยเหลือ ป้องกัน และเตรียมคลอดอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยทั้งแม่และลูก

เอกสารเผยแพร่โดยกรมอนามัย


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค