นิ่วในทางเดินน้ำดี

สาเหตุ

สาเหตุ มี 3 ปัจจัยหลัก คือ
ความอิ่มตัวของน้ำดี
การบีบตัวของถุงน้ำดีไม่ดี หรือมีการอุดตันของทางเดินน้ำดี
การติดเชื้อในทางเดินน้ำดี

ความชุกและปัจจัยเสี่ยง

นิ่วในทางเดินน้ำดี เป็นโรคที่พบบ่อย. พบได้ประมาณ 5-10% ของประชากร. โดยพบในเพศหญิงมากกว่าชาย ประมาณ 2-3 เท่า. และพบได้มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น (ส่วนใหญ่ พบในอายุ มากกว่า 40 ปี, ในคนอายุเกิน 70 ปี พบได้ถึงประมาณ 15-30%).
ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความอ้วน, เบาหวาน, โรคโลหิตจางบางชนิด, อาหารไขมัน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า มีอุบัติการณ์ของโรคนี้สูงขึ้น.

ตำแหน่งของนิ่ว

นิ่วในทางเดินน้ำดี ส่วนใหญ่ พบอยู่ในถุงน้ำดี (Gall Bladder) (ประมาณ 75%), พบในท่อน้ำดี (Common bile duct) (ประมาณ 10-20%), พบร่วมกันทั้ง 2 แห่ง (ประมาณ 15%), ส่วนน้อยพบอยู่ในท่อน้ำดีในตับ (liver) (ประมาณ 2%).

อาการและอาการแสดง

  1. ไม่มีอาการ : นิ่วในถุงน้ำดี ส่วนใหญ่ (มากกว่า 50%) ไม่มีอาการ และในกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดอาการขึ้นได้ ประมาณ 1-2% ต่อปี.
  2. มีอาการ
2.1ท้องอืด แน่นท้อง (Dyspepsia) :
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังรับประทานอาหารมัน. ซึ่งอาการแบบนี้ อาจเกิดจากโรคระบบทางเดินอาหารอื่น เช่น โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคของลำไส้ใหญ่ ก็ได้.

2.2 ปวดเสียดท้อง (Biliary colic) :
อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่. ซึ่งมักเป็นหลังรับประทานอาหารมัน แต่อาการอาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง (แต่มักไม่เกิน 8 ชั่วโมง) แล้วค่อยกลับเป็นปกติ อาจร้าวไปสะบักขวา หรือที่หลัง.

2.3 อาการที่เกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อน
2.3.1 ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน :
จะมีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงขวามากขึ้น และมีการตรวจพบการกดเจ็บบริเวณนี้ ร่วมกับมีไข้ และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย.
2.3.2 นิ่วในท่อน้ำดี :
อาจหลุดมาจากถุงน้ำดีมาอุดตันในท่อน้ำดี หรือเกิดบริเวณท่อน้ำดีเอง. ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง, ไข้สูง หนาวสั่น, ปวดท้องชายโครงขวา. ถ้าเป็นมาก จะมีความดันเลือดต่ำ.
2.3.3 ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน :
เชื่อว่า เกิดจากการที่นิ่วในท่อน้ำดี ไปอุดรูเปิดของท่อตับอ่อน ชั่วเวลาหนึ่ง. ทำให้เกิดการอักเสบของตับอ่อน. มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง บริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงซ้าย, อาจปวดไปหลัง และมีอาการอาเจียน, ไข้ต่ำ ๆ.
2.3.4 ลำไส้อุดตัน :
นิ่วในถุงน้ำดี อาจหลุดเข้าไปลำไส้ (โดยผ่านทางติดต่อผิดปกติ ระหว่าง ถุงน้ำดีกับลำไส้). แล้วเกิดการอุดตัน. มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน, ท้องอืด, ปวดท้องเป็นพัก ๆ ทั่ว ๆ ท้อง, ไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ผายลม.

การตรวจวินิจฉัย

วินิจฉัยได้จาก การมีอาการดังกล่าวข้างต้น, การตรวจพบ การกดเจ็บชายโครงขวา หรือพบ ตัวเหลือง ตาเหลือง ตามแต่ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น.

การยืนยันว่า มีนิ่วในถุงน้ำดีจริง อาศัยการตรวจ อัลตราซาวน์ของช่องท้อง มาช่วย ซึ่งนอกจากจะบอกว่า มีนิ่ว หรือ ไม่มี แล้ว, ก็ยังสามารถบอกพยาธิสภาพของถุงน้ำดี, โรคแทรกซ้อน, หรือโรคอื่น ๆ ได้ด้วย.

การรักษา

นิ่วในถุงน้ำดี หากไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่า จะต้องผ่าตัด, เพราะ อาจไม่มีอาการเลยตลอดชีวิต, ยกเว้นในคนไข้บางกลุ่ม ที่แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด เช่น อายุน้อย (เพราะว่า มีโอกาสเกิดอาการขึ้นมาได้ในอนาคต), โรคโลหิตจางบางชนิด เป็นต้น.
ส่วนนิ่วในถุงน้ำดี ที่มีอาการ หรือมีภาวะแทรกซ้อนแล้ว ควรได้รับการผ่าตัด.

การรักษานิ่วในถุงน้ำดี ในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว คือ การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ซึ่งวิธีมาตรฐานดั้งเดิม ใช้วิธีการ ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง บริเวณใต้ชายโครงขวา (Open Cholecystectomy) โดยศัลยแพทย์ชาวเยอรมัน ทำเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณกว่า 100 ปี มาแล้ว (พ.ศ. 2427). วิธีนี้ จะมีแผลผ่าตัดที่ยาว ประมาณ 10 ซม. (รูปที่ 1) โดยหากมีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย ก็จะทำการเปิดท่อน้ำดี เพื่อเอานิ่วออกได้ไปพร้อมกัน.

ปัจจุบัน มีการผ่าตัดอีกวิธี คือ การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก โดยใช้กล้องส่องผ่านหน้าท้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) โดยศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส ทำเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2530 นี้เอง. วิธีนี้ กำลังเป็นที่นิยม และทดแทนการผ่าตัดวิธีมาตรฐานดั้งเดิม เนื่องจากมีแผลผ่าตัดที่เล็กลง (เป็นแผลเล็ก ๆ จำนวน 4 แผล ขนาด 0.5-1 ซม. เท่านั้น - รูปที่ 2). แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เนื่องจากมีการใช้กล้อง และอุปกรณ์พิเศษเพิ่มเติมหลายอย่าง. ในการผ่าตัดวิธีนี้ หากมีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย ก็สามารถเอาออกได้ หรืออาจใช้ วิธีส่องกล้องผ่านทางเดินอาหาร (จากปากเข้าไปถึงลำไส้เล็ก) เพื่อเอานิ่วในท่อน้ำดีออกก็ได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เช่นกัน. (เรียกวิธีการนี้ว่า อีอาร์ซีพี (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography).

ข้อดีของการผ่าตัดถุงน้ำดีออกโดยใช้กล้อง

  1. อาการปวดเจ็บที่แผลผ่าตัดมีน้อยกว่า.
  2. ระยะเวลาที่ต้องอยู่ ร.พ. สั้นกว่า (ประมาณ 1-2 วัน หลังผ่าตัด, เทียบกับ 5-7 วัน ในการผ่าตัดแบบเดิม).
  3. การกลับไปปฏิบัติหน้าที่การงานหลังการรักษาเร็วกว่า.
  4. แผลผ่าตัดสั้นกว่า จึงมีผลต่อความสวยงามของหน้าท้อง.

ข้อเสีย

  1. ต้องใช้เครื่องมือพิเศษบางอย่าง ทำได้เฉพาะใน ร.พ. เพียงบางแห่ง.
  2. ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า.
  3. ต้องใช้ศัลยแพทย์ที่มีความสามารถในการผ่าตัดวิธีนี้.

โดย นพ.นพวัชร์ สมาคติวัฒน์ ศัลยแพทย์
http://www.thaiclinic.com/medbible/biliarystone.html

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ

อาการ

ปวดท้องบริเวณด้านบนขวา (pain) อาการที่แสดงถึงโรคแทรกซ้อน คือ เป็นไข้ (fever) และตัวเหลือง (jaundice) อาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดีโดยไม่มีอาการและตรวจพบโดยอัลตราซาวนด์ (ultrasound scanning)

การติดเชื้อแทรกซ้อน

อาจเกิดเป็นหนองรอบถุงน้ำดีเกิดการอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง (peritonitis) ก้อนนิ่วอาจเลื่อนลงมาอุดท่อน้ำดีเกิดโรค ตัวเหลืองหริอโรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

การวินิจฉัย

นิ่วในถุงน้ำดีตรวจพบโดยอัลตราซาวนด์

การป้องกัน

ในปัจจุบันยังคงไม่ทราบวิธีป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดี

การรักษา

ในปัจจุบันยาละลายนิ่วในถุงน้ำดียังไม่ได้ผลดี
การสลายนิ่วในถุงน้ำดี (Lithotripsy) ในปัจจุบันยังไม่ได้ผลดี
การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผล วิธีผ่าตัดแบบดั้งเดิม หรือ วิธีใช้กล้อง (Laparoscopic surgery)
การผ่าตัดวิธีใช้กล้อง ไม่ได้ผลในทุกคนเสมอไป ในบางคนที่นิ่วลงมาอยู่ในท่อน้ำดี (bile duct) อาจต้องใช้วิธีผ่าตัดแบบดั้งเดิม หรือ ERCP (กรณีที่มีการอักเสบอย่างมากหรือมีเยื่อพังผืดติดพันอาจต้องใช้วิธีผ่าตัดแบบดั้งเดิม)

แปลจาก : http://www.arachnis.com/drsastry/cholinfo.htm


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค