มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ผู้หญิงหวาดกลัวไม่ใช่น้อยเพราะเมื่อเป็นแล้วอาจจะต้องตัดเต้านมทิ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นผู้หญิงอย่างหนึ่ง และที่สำคัญคือ มะเร็งเต้านมสามารถคร่าชีวิตผู้หญิงได้ มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2ในมะเร็งของผู้หญิง รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก ในปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มว่าจะลดลง ซึ่งหมายความว่าในอนาคต มะเร็งเต้านมอาจจะขึ้นมาครองแชมป์ก็ได้ ด้วยความสำคัญเช่นนี้จึงได้สัมภาษณ์ น.พ. กริช โพธิสุวรรณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มาให้ความรู้ในเรื่องนี้

ผู้หญิงจะดูแลตนเองหรือเฝ้าระวังโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างไร

ผู้หญิงทุกคนไม่วาจะเป็นคนที่มีอัตราเสี่ยงมากหรือน้อย ควรจะรู้จักวิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพราะตนเองอาจจะเป็นคนเเรกที่พบความผิดปกติได้ วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเองนั้น ควรเริ่มตรวจตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน โดยตรวจเดือนละครั้ง ระยะเวลาที่ดีที่สุดคือ ประมาณวันที่ 10 หลังจากที่เริ่มมีรอบเดือน ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่เต้านมมีขนาดเล็กที่สุด ทำให้สามารถคลำพบสิ่งผิดปกติได้ง่ายที่สุด และวิธีการตรวจนั้น ต้องประกอบด้วยการดู ก็คือการยืนอยู่หน้ากระจก ส่องกระจกดูเปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้าง ว่าข้างใดมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ขนาด รูปร่าง เหมือนกันมั้ย ระดับของหัวนมอยู่ในระดับเดียวกันหรือเปล่า มีความผิดปกติของหัวนมหรือไม่ เช่น หัวนมบุ๋มดึงรั้งเข้าไป มีผิวหนังของเต้านมผิดปกติ เช่น อาจจะมีรอยบุ๋ม มีบวมแดง หลังจากดูแล้วก็คือการคลำ วิธีที่สะดวกคือ การคลำในขณะที่กำลังอาบน้ำอยู่เพราะช่วงกำลังถูสบู่อยู่ผิวหนังจะลื่น ฉะนั้นถ้ามีอะไรผิดปกติ มีก้อน เราจะคลำได้แน่นอนกว่าตอนที่ผิวหนังหนืดๆ

สาเหตุของมะเร็งเต้านม

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่นอน ก็คงเหมือนกับสาเหตุทั่วๆไป ทราบแต่เพียงว่ามีสาเหตุบางอย่างที่จะส่งเสริมให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น คือ
  1. อายุ ผู้หญิงที่มีอายุมาก มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่มีอายุน้อย
  2. พันธุกรรม ผู้หญิงที่มีญาติพี่น้องผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะถ้าญาติหรือแม่เป็นตั้งแต่ในระยะที่ยังอายุน้อยๆ ยังมีรอบเดือนอยู่แล้วเป็นมะเร็งเต้านม ลูกพี่ลูกน้องของคนไข้ในกลุ่มนี้ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมค่อนข้างสูง นอกจากนี้ในปัจจุบัน ยังพบว่า มียีนบางตัวที่ก่อให้เกิดเป็นมะเร็งเต้านม เรียกว่า ยีนบีอาร์ซีเอวัน (BRCA1) ผู้หญิงคนใดมียีนนี้อยู่ในร่างกาย เมื่ออายุถึง 50 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมถึงร้อยละ 50 และมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 80 เมื่อมีอายุมากกว่า 65 ปี
  3. ปริมาณรอบเดือน คนที่มีรอบเดือนตั้งแต่อายุต่ำกว่า 12 ปีและหมดรอบเดือนเมื่อมีอายุมาก ๆ เช่น เกิน 50 ปี และในระหว่างนั้นไม่เคยมีการตั้งครรภ์หรือมีบุตรน้อย ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่มีบุตรมาก ที่สำคัญอีกอย่างคือ ถ้ามีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมเท่าๆ กับคนที่ไม่มีบุตร
  4. อาหาร คนที่กินอาหารที่มีไขมันจากสัตว์มากๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้สูง เคยมีคนวิจัยพบว่าคนอเมริกันเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด คนของเขาตายเพราะมะเร็งเต้านมเป็นอันดับหนึ่ง จากมะเร็งทั้งหมด เพราะกินอาหารที่มีไขมันจากสัตว์มาก ส่วนคนญี่ปุ่นจะเป็นมะเร็งเต้านมน้อย แต่เมื่อคนญี่ปุ่นย้ายไปอยู่อเมริกาภายใน 2 ชั่วคน คนญี่ปุ่นก็มีโอกาสเป็นมะเร็วเต้านมสูงพอๆ กันกับคนอเมริกัน
  5. ยา ยาที่มีฮอร์โมนเพศหญิงอยู่ก็อาจมีส่วนทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น เช่น ยาคุม แต่ยาคุมในปัจจุบันมีการควบคุมขนาดฮอร์โมน ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมค่อนข้างน้อย รวมทั้งฮอร์โมนที่ได้รับในวัยทอง โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมก็ค่อนข้างน้อย ถ้ามีความจำเป็นต้องกินยาเหล่านี้ก็กินได้ แต่ควรมาตรวจเช็คกับแพทย์ตามกำหนดทุกครั้ง เพื่อว่าเกิดมีอาการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นจะได้วินิจฉัยได้เร็ว และหยุดยานั้นได้ก่อนที่จะเป็นมะเร็งขึ้นมา
  6. การผ่าตัดเสริมทรวงอก ในสมัยก่อนการผ่าตัดจะใช้ฉีดสารซิลิโคนเข้าไปในเนื้อเต้านมโดยตรง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น แต่ปัจจุบันการผ่าตัดจะใช้วิธีใส่ถุงซิลิโคนเข้าไป แล้วฉีดน้ำเกลือเข้าไปในถุงซิลิโคนนั้น ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างปลอดภัยไม่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

การเป็นมะเร็งเต้านมจะมีอาการใดๆเตือนล่วงหน้าหรือไม่

ข้อเสียของมะเร็งเต้านมคือ ก้อนที่เป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการเจ็บ จะเจ็บก็ต่อเมื่อมีอาการค่อนข้างมากแล้ว

อาการที่สำคัญที่สุดของมะเร็งเต้านมคือ การคลำพบก้อนในเต้านม ก้อนในเต้านมนั้น มีได้หลายชนิด บางชนิดก็เป็นเพียงถุงน้ำ หรือบางชนิดก็เป็นก้อนเนื้องอกธรรมดา นอกจากอาการที่มีก้อนที่เต้านมแล้ว ก็อาจจะมีอาการของมีน้ำออกมาจากหัวนม ซึ่งอาจจะมีลักษณะใสๆ หรือน้ำขาวขุ่นๆ คล้ายน้ำนม บางครั้งอาจเป็นน้ำที่มีเลือดปนหรืออาจเป็นน้ำเลือดที่ออกจากหัวนมเลย จะสามารถแยกแยะก้อนที่เต้านมอย่างไรว่าใช่มะเร็งหรือไม่ กรณีใดควรไปพบแพทย์

ก้อนที่คลำเจอในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือช่วงมีประจำเดือน แล้วช่วงหมดประจำเดือนก้อนนี้ก็หายไป อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงตามระดับฮอร์โมนในร่างกายซึ่งไม่ใช่มะเร็ง

สำหรับก้อนที่คลำพบส่วนใหญ่เป็นพังผืดที่เต้านมเรียกว่า ไฟโบรซีสติกดีซีส (fibrocystic disease) หรือ ซีสต์ (cyst) จะพบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการทำอัลตราซาวนด์ ถ้าพบว่าเป็นถุงน้ำ ก็เพียงใช้เข็มเจาะเข้าไปในถุงแล้วดูดน้ำออกมาก้อนนั้นก็หายไป และโอกาสที่ซีสต์จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมมีน้อยมาก ในทางการแพทย์มีวิธีตรวจหามะเร็งเต้านมอย่างไร

แรกสุดเมื่อมีคนไข้มาตรวจ จะต้องซักประวัติคนไข้ว่ามีประวัติเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ จากนั้นก็ตรวจร่างกาย ซึ่งบางครั้งการตรวจร่างกายพอจะบอกได้ว่าก้อนนั้นใช่หรือไม่ใช่มะเร็ง

วิธีการตรวจที่นิยมทำกันมากที่สุดคือ การตรวจเอกซเรย์เต้านม ที่เรียกว่า แมมโมแกรม เป็นการตรวจหามะเร็งตั้งแต่เริ่มแรกซึ่งไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยตนเองหรือวิธีอื่น

นอกจากนี้ก็จะมีการตรวจที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ที่เรียกว่า อัลตราซาวนด์ แต่ทั้งแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เพียงบอกได้คร่าว ๆ ว่าเจอก้อนเนื้อ วิธีที่จะบอกได้แน่นอนคือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา การตรวจแมมโมแกรมนั้นตามโรงพยาบาลในจังหวัดใหญ่หรือโรงพยาบาลตามโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถให้การตรวจได้ เสียค่าใช้จ่าย ประมาณ 1,500-2,000 บาท (สำหรับผู้ที่จ่ายเงินเอง)

มะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็นกี่ระยะ

มี 4 ระยะ
  • ระยะที่1 ก้อนขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร และยังไม่มีการกระจายของมะเร็ง
  • ระยะที่2 ก้อนอนู่ในระหว่าง 2-5 เฃนติเมตร และมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้
  • ระยะที่3 ก้อนใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร
  • ระยะที่4 คือระยะที่มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระดูก ปอด ตับ เป็นต้น

โอกาสในการรักษามะเร็งแต่ละระยะเป็นอย่างไร

หากตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ ระยะที่ 1 โอกาสที่จะรักษาหายมีถึงประมาณร้อยละ 80 และระยะที่ 2 มีประมาณร้อยละ 60 ส่วนระยะที่ 3 และ4 โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีค่อนข้างน้อย

เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม

  1. เมื่อคลำพบก้อนหรือเกิดความผิดปกติกับเต้านมดังที่กล่าวถึงข้างต้น ควรพบแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม
  2. มะเร็งเต้านมพบมากในอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป ฉะนั้นควรเริ่มทำเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรมเมื่ออายุเกิน 40ปี
เพราะว่าบางครั้งเราสามารถพบมะเร็งเต้านมได้ในระยะที่ยังคลำก้อนไม่ได้ ซึ่งแมมโมแกรมอาจเห็นก้อนขนาดเพียง 5 มิลลิเมตร ซึ่งแพทย์ไม่มีทางคลำได้ถ้ารักษามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะ 5 มิลลิเมตร โอกาสที่จะหายขาดมีเกือบ 100เปอร์เซ็นต์ การทำแมมโมแกรมก็มีข้อจำกัด คือ ในคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปี เนื้อเต้านมยังมีอยู่มาก เวลาถ่ายแมมโมแกรม แล้วจะไม่เห็นอะไร ถ่ายไปก็ไม่มีประโยชน์ แมมโมแกรมจะมีประโยชน์ก็คนในอายุ 40 ปีขึ้นไป

ถ้าอายุเกิน 50 ปีก็ควรทำแมมโมแกรมทุกปีไปจนตลอดชีวิต สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีญาติเคยเป็นมะเร็งเต้านม ควรเริ่มพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมเร็วขึ้น

โอกาสที่มะเร็งเต้านมจะกลับมาใหม่มีหรือไม่

ก็มีโอกาส เมื่อเป็นมะเร็งแล้ว ถึงจะรักษาอย่างไรก็ตาม ก็มีโอกาสที่จะเกิดซ้ำขึ้นมาอีกได้ ฉะนั้นหลังจากการรักษาไปแล้ว หมอจะนัดคนไข้มาตรวจเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิตของคนไข้ เพราะบางรายอาจจะเกิดซ้ำหลังจากที่รักษาไปมากกว่า 10 ปีก็ได้ มะเร็งเต้านมยังเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ และเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงจำนวนมาก ดังนั้นผู้หญิงจึงควรตรวจเต้านมตัวเองอย่างสม่ำเสมอเดือนละครั้งเพราะการเจอมะเร็งเต้านมตั้งแต่เนิ่นๆ โอกาสที่จะรักษาหายสูงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คงไม่มีใครที่จะป้องกันตัวเราได้ดีเท่าตัวเราเอง

น.พ. กริช โพธิสุวรรณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค