ไข้เลือดออก (Denque hemorrhagic fever)
ICD10: A90/A91

สาเหตุ

เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อ Denque virus (Flaviviridae) มีตัวยุงลาย (Aedes aegypti) เป็นพาหะของโรค

ช่วงอายุที่ป่วย

พบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-8 ปี

อาการสำคัญ 4 ประการคือ

  1. ไข้สูงลอย : ไข้ 39-40, มักมีหน้าแดง, โดยมักไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอเด็กโตอาจมีอาการ ปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน
  2. อาการเลือดออก : เลือดกำเดาไหล, เลือดออกตามไรฟัน, เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการ อาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายดำ, จุดเลือดออกตามตัว
  3. ตับโต
  4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือ ช็อค : มักจะเกิดช่วงไข้จะลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่ายมือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อค ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ

การรักษา

  1. ให้ยาลดไข้, เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ Paracetamol ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกร็ดเลือดผิดปกติ และระคายกระเพาะอาหาร
  2. ให้สารน้ำชดเชย เนื่องจากผู้ป่วยมักมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ในรายที่พอทานได้ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ ในรายที่ขาดน้ำมาก หรือ มีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียน หรือ ถ่ายเป็นเลือดต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด
  3. ติดตามดูอาการใกล้ชิด ถ้ามีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
  4. ตรวจนับจำนวนเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ เพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย

การป้องกัน

  1. ควบคุมยุงลาย โดยให้สุขศึกษากับประชาชนให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ส่วนใหญ่มักเป็น ภาชนะเก็บน้ำในบ้าน เช่น โอ่งน้ำ, ถ้วยรองขาตู้กันมด แจกันดอกไม้ หรือนอกบ้าน เช่น จานรองกระถางต้นไม้, ยางรถยนต์
  2. ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ยุงลายที่เป็นพาหะไข้เลือดออก เป็นยุงตัวเมีย มักชอบกัด เวลากลางวัน ส่วนวัคซีนไข้เลือดออกขณะนี้อยู่ในขั้นค้นคว้าทดลอง

ตัดวงจรชีวิตยุงลาย

  1. กำจัดลูกน้ำยุงลาย
  2. กำจัดยุงตัวแก่
  3. กำจัดลูกน้ำยุงลายและกำจัดยุงตัวแก่โดยกำจัดลูกน้ำก่อน 2-3 วันก่อนกำจัดยุงตัวแก่ เป็นวิธีที่ดีที่สุด

ผลการศึกษา Dengue Serotype ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประเทศไทย 2543 พบว่ามี 4 type

Serotype ร้อยละ
type 1 43.2
type 2 26.7
type 3 24.6
type 4 5.5

ประเด็นการศึกษาที่น่าสนใจ

  • การติดเชื้อ Dengue ร้อยละ 80-90 จะไม่มีอาการ
  • ร้อยละ 87-98 เป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 (Secondary Infection)
  • ร้อยละ 95-99 ของผู้ป่วย Dengue Shock Syndrome เป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2
  • ผู้ป่วย DHF อายุต่ำกว่า 1 ปีส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อครั้งแรก (Primary Infection)

สรุป การเกิด DHF ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 และเป็น Serotype ที่ต่างกัน

การระบาดของไข้เลือดออก

ในอดีตระบาดปีเว้นปี ต่อมาระบาด 1 ปีเว้น 2 ปี ปัจจุบันมีแนวโน้มจะระบาด 2 ปี เว้น 2 ปี
โครงการศึกษาระบาดวิทยา serotype ของไวรัสเดงกี่จังหวัดพิษณุโลก

เอกสารอ้างอิง

  1. พญ.ดารารัตน์ สัตตวัชราเวช กุมารแพทย์ http://www.thaiclinic.com/dhf.html
  2. สุจิตรา นิมมานนิตย์ ไข้เลือดออกเดงกี่. บริษัท ดีไซน์จำกัด กรุงเทพมหานคร 2540
  3. Gubler D.J.and Kuno G.Dengue and Dengue Hemorrhagic Fever. CAB international Wallingford UK 1997 p9.
  4. ศิริชัย พรรณธนะ สี่ทศวรรษของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย. จุลสารไข้เลือดออก 2542; (2) : 3
  5. กองระบาดวิทยา สถานการณ์ไข้เลือกออก ปี พ.ศ.2543. เอกสารอัดสำเนา

ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค