60 คำถามเกี่ยวกับสตรีวัยทอง

1. เมโนพอส (Menopause) คืออะไร

Menopause คือการหมดระดูอย่างถาวรของสตรี เนื่องจากรังไข่หยุดผลิตฮอร์โมนเพศ โดยนับจากการไม่มีระดูติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม ทำให้สตรีเข้าสู่วัยที่ไม่สามารถมีบุตรได้อีกต่อไป

2. จะเข้าสู่ Menopause เมื่อไร

อายุเฉลี่ยของวัย Menopause สำหรับสตรีไทยคือ 49 ปี บางคนอาจเข้าสู่วัยนี้ตั้งแต่อายุ 40 กว่าบางคนอาจมีอาการช้า คือเริ่มเมื่ออายุประมาณ 55 ปี

3. ช่วง Menopause นอกจากระดูไม่ปกติแล้วอาจมีอาการอื่นๆของ Menopause อีกหรือไม่

อาการทั่วไปที่พบได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ใจสั่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด ปวดเมื่อย อ่อนล้า หลงลืม อาการอื่นได้แก่ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ช่องคลอดแห้งและเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ผิวพรรณแห้งย่น ผมร่วง เล็บเปราะ

4. แล้วทำไมจึงเรียกสตรีวัยนี้ว่าวัยทอง

เนื่องจากสตรีวัน 40 ขึ้นไปส่วนใหญ่จะมีหน้าที่การงานมั่นคง มีความรู้ ความสามารถ ผ่านประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัว การงานหรือสังคม จึงถือเป็นวัยแห่งความสำเร็จของชีวิต

5. ถ้าสตรีอายุ 48 ปีหมดระดูไปปีกว่าแล้วไม่เห็นมีอาการใดเลย ถือว่าเข้าสู่ Menopause หรือไม่

ตามหลักแล้ว Menopause จะถือจากการไม่มีระดูเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม ในสตรีบางคนอาจไม่มีอาการใดเลย แต่สตรีเหล่านี้ควรต้องคำนึงถึงอาการที่มองไม่เห็นซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตเนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ ซึ่งได้แก่ กระดูกพรุน และระดับไขมันในกระแสเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ กระดูกหัก และโรคหัวใจขาดเลือด ในสตรีวัย 60 กว่า ดังนั้นจึงแนะนำให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

6. เป็นไปได้ใหมที่จะเข้าสู่ Menopause ตั้งแต่อายุ 30 กว่า

แม้ว่าอายุ 30 กว่า จะยังเร็วไปสำหรับการหมดระดู แต่พบว่าสตรี 8 ใน 100 คน มีโอกาสหมดระดูเร็วกว่าสตรีทั่วไป อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ Menopause เร็วกว่าสตรีทั่วไปมักเกิดในสตรีอายุ 30 ตอนปลายหรือ 40 ตอนต้น อีกเหตุผลของการเข้าสู่ Menopause เร็วกว่าสตรีทั่วไปคือ การที่สตรีได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศได้อีกต่อไป ในสตรีกลุ่มนี้ หากไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทนจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เนื่องจากร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีการสลายตัวของเนื้อกระดูกมากกว่าปกติ

7. ควรปฏิบัติตัวอย่างไรตั้งแต่วัยสาวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการต่างๆ ช่วงวัย Menopause

ปัจจุบันเราสามารถรักษาอาการ Menopause ได้ด้วยฮอร์โมนทดแทน แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตหลังหมดระดู คือโรคกระดูกพรุน และโรคหัวใจ อย่างไรก็ดี พบว่าก่อนวัย 35 ปี ร่างกายของคนเรามีการสร้างสมเนื้อกระดูก จนมีปริมาณสูงสุดเมื่ออายุ 35 ปี ดังหากเราพยายาม ออกกำลังกาย ทานแคลเซียม อย่างเพียงพอ ร่างกายสามารถสร้างสมเนื้อกระดูกไว้มากเมื่อเข้าสู่วัย Menopause เราจะมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้น้อย
นอกจากนี้พบว่าเมื่อเข้าสู่วัย Menopause ระดับไขมันในกระแสเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น การทานอาหารไขมันต่ำ อาหารที่มีกาก มีผลดีต่อระดับไขมันในกระแสเลือด และป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้

8. สตรีที่เข้าสู่ Menopause ช้ากว่าสตรีปกติจะมีอายุยืนกว่าคนอื่นหรือไม่

สตรีที่หมดระดูช้า แสดงว่าร่างกายยังผลิตฮอร์โมนเพศเองได้ทำให้ดูแก่ช้า เมื่อดูลักษณะภายนอก ผิวพรรณไม่เหี่ยวย่น เดินหลังตรง คล่องแคล่ว นอกจากนี้ ระบบกระดูก และหัวใจยังได้รับการปกป้องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ร่างกายผลิตเอง

9. อาการร้อนวูบวาบ เป็นอย่างไร

เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลงกระทันหัน ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในร่างกายจะทำงานผิดไป ทำให้หลอดเลือดตามผิวหนังขยายตัว เกิดอาการร้อนวูบวาบ พร้อมทั้งมีเหงื่อออกมาก มักเกิดตามหน้าอก หลัง คอ หน้า บางคนเป็นวันละ 2-3 ครั้งบางคนเป็นถี่ถึง 50 ครั้งต่อวัน

10. เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน คืออะไร มาจากไหน

ทั้งสองชนิดเป็นฮอร์โมนเพศที่ร่างกายเคยสร้างเองได้ก่อนจะเข้าสู่วัยหมดระดู
ฮอร์โมนเอสโตรเจน ออกฤทธิ์ให้สตรีมีระบบประสาทอัตโนมัติทำงานปกติ ความจำดี ผิวพรรณดี ระบบปัสสาวะปกติ ช่องคลอดชุ่มชื้น หัวใจดี กระดูกแข็งแรง อีกทั้งยังป้องกันโรคกระดูกพรุนและโรคหัวใจขาดเลือดแต่ในขณะเดียวกันฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนหรือโปรเจสโตรเจนคือตัวเดียวกัน เป็นตัวทำให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปด้วยดี ในช่วงที่ยังไม่มีการตั้งครรภ์ โปรเจสโตรเจนจะปรับเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวขึ้นเนื่องจากเอสโตรเจนให้หลุดออกมาเป็นประจำเดือน

11. อาการหน้ามัน หรือมีขนขึ้นตามใบหน้าเป็นอาการ Menopause หรือไม่

เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสตรีหมดไป ฮอร์โมนเพศตัวอื่นในร่างกายสตรีจะเด่นขึ้น ในสตรีบางคนฮอร์โมนตัวนั้นจะเด่นมากและออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศชายทำให้เกิด หน้ามัน หรือมีหนวดบางๆขึ้นตามใบหน้า

12. การที่ผม และขนตามส่วนต่างๆของร่างกายหลุดร่วงไป เป็นอาการผิดปกติของ Menopause หรือไม่

ตามปกติ รากผมหรือขน จะฝังตัวในชั้นหนังแท้ซึ่งมีคอลลาเจน (ตัวเพิ่มความหนาและความยืดหยุ่นให้แก่ผิวหนัง) ประกอบอยู่ เมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ปริมาณคอลลาเจนจะลดลงตามไปด้วย ทำให้ผิวหนังแห้งบางและเหี่ยวย่น ขณะเดียวกัน รากผม และขน ที่เคยฝังตัวอยู่จะหลุดร่วงออกมาง่าย

13. อาการใดบ้างที่เกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะเนื่องจาก Menopause

เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง สตรีจะพบว่า มีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะบ่อย สาเหตุเพราะท่อปัสสาวะบางลงและมีความยืดหยุ่นน้อย เชื้อโรคจึงเข้าง่าย นอกจากนี้ความยืดหยุ่นที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สตรีหลายคนมีปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจาม

14. ทำไมจึงมีอาการแห้งและคันช่องคลอดเมื่อเข้าสู่ Menopase

เมื่อสตรีเริ่มเข้าสู่วัยหมดระดู ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้ความชุ่มชื้นและสารหล่อลื่นในช่องคลอดของสตรีค่อยๆ หมดไป นอกจากคุณสมบัติหล่อลื่นแล้วสารนี้ยังป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในช่องคลอดได้อีกด้วย เมื่อสิ่งเหล่านี้หมดไป สตรีจึงมีอาการช่องคลอดแห้งคันเพราะติดเชื้อง่าย และเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์

15. ทำไมจึงเกิดความรู้สึกมึนงง หดหู่เมื่ออยู่ในวัย Menopause

สาเหตุสำคัญเป็นเพราะอาการร้อนวูบวาบขณะนอนหลับ ทำให้มีเหงื่อออกมากจนนอนไม่หลับ การนอนน้อยทำให้เพลียในตอนกลางวัน และเกิดอาการมึนงง หดหู่ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการขาดฮอร์โมน การใช้ฮอร์โมนทดแทนจะช่วยรักษาอาการนี้ได้ดี

16. หากไม่มีอาการร้อนวูบวาบ แต่มีอาการนอนไม่หลับจะเกิดจาก Menopause หรือไม่

เป็นไปได้ เพราะว่าสตรีราว 25% ที่ไม่มีอาการร้อนวูบวาบแต่มีอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นในช่วงที่พบว่าตนเองมีระดูไม่ปกติ

17. อาการใจสั่นเป็นอาการของ Menopause หรือไม่และควรทำอย่างไร

ใจสั่นเป็นอีกอาการหนึ่งของ Menopause แต่อาจเป็นจากสาเหตุอื่นได้ เข่นเป็นอาการเตือนของโรคหัวใจ หรือเกิดจากการดื่มกาแฟมากเกินไป

18. อาการอ่อนล้าเป็นอาการ Menopause หรือไม่

สำหรับสตรีวัยหมดระดู มักพบปัญหานอนไม่ค่อยหลับ ทำให้มีอาการอ่อนล้า หรือคนที่เครียดก็จะเกิดอาการอ่อนล้าเช่นกัน

19. ความเครียดก่อให้เกิดอาการ Menopause มากขึ้นหรือไม่

เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง จะมีอาการเครียด หงุดหงิด ขวางหูขวางตา สตรีบางคนยิ่งเครียดยิ่งนอนไม่หลับ ทำให้อาการเครียดเพิ่มมากขึ้นไปอีก

20. Menopause มีผลอย่างไรต่อความจำ

พบว่าสตรีวัยนี้มีความจำระยะสั้นแย่ลง หลงลืมง่าย ปัญหาที่พบบ่อยคือลืมว่าวางข้าวของไว้ที่ใหน หรือลืมว่ากำลังตั้งใจจะทำอะไร

21. เมื่อไรอาการ Menopause จึงจะหมดไป

อาการทั่วไปของ Menopause มักเกิดขึ้นเพียง 2-3 ปีแรกแล้วหมดไป ในช่วง 2-3 ปีที่มีอาการนี้ ฮอร์โมนทดแทนสามารถรักษาได้ อย่างไรก็ตามเราขอแนะนำให้ทานฮอร์โมนทดแทนต่อไปเพราะว่านอกจากรักษาอาการ Menopause ทั่วไปแล้วยังรักษาอาการผิวพรรณเหี่ยวย่น ผมร่วง เล็บเปราะ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ช่องคลอดแห้ง อีกทั้งเป็นผลดีที่สำคัญในระยะยาว คือสามารถป้องกันโรคกระดูกพรุน และโรคหัวใจขาดเลือด ในสตรีวัยหมดระดูได้ด้วย

22. Menopause เนื่องจากการผ่าตัด ต่างจาก Menopause โดยธรรมชาติอย่างไร

เมื่อรังไข่ทั้งสองข้างของสตรีถูกตัดออกไป ร่างกายจะหยุดสร้างฮอร์โมนเพศทันที เราถือว่าสตรีเข้าสู่วัย Menopause หรือหมดประจำเดือนโดยการผ่าตัด แต่ในสตรีที่มีรังไข่ รังไข่จะค่อยๆลดการทำงานลง และหยุดสร้างฮอร์โมนเพศเมื่ออายุประมาณ 49 ปี จะถือว่าเข้าสู่วัย Menopause โดยธรรมชาติ

23. สตรีที่ถูกตัดมดลูกออก ต่างจากการถูกผ่าตัดรังไข่ออกอย่างไร

สตรีที่เป็นเนื้องอกในมดลูก สตรีที่มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติรุนแรง และสตรีที่เป็นมะเร็งมดลูกมีโอกาสได้รับการรักษาโดยการตัดมดลูก สตรีกลุ่มนี้ไม่สามารถมีบุตรและไม่มีระดูอีกต่อไป แต่ร่างกายยังไม่ขาดฮอร์โมนเพศเนื่องจากว่ารังไข่ซึ่งเป็นตัวผลิตฮอร์โมนเพศยังอยู่
สำหรับสตรีที่มีโรคที่ผิดปกติเกี่ยวกับรังไข่ และถูกตัดรังไข่ออกไป สตรีจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนทันทีหลังผ่าตัด เนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมักมีอาการ Menopause เกิดขึ้นอย่างมากทันที

24. หลังจากผ่าตัดมดลูกออก แต่ยังมีรังไข่อยู่ จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงวัย Menopause แล้ว

เมื่อไม่มีมดลูกสตรีจะไม่มีระดู จึงไม่มีอาการระดูผิดปกติในช่วงก่อนหมดระดูถาวร แต่สตรีจะสามารถสังเกตเห็นอาการผิดปกติทั่วไปอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ ช่องคลอดแห้ง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์

25. การเลือกฮอร์โมนทดแทนในสตรีที่เข้าสู่ Menopause โดยธรรมชาติและเนื่องจากการผ่าตัดต่างกันหรือไม่

ถึงเข้าสู่วัย Menopause เหมือนกันแต่แพทย์มีหลักการง่ายๆในการให้ฮอร์โมนแก่คนไข้ดังนี้


Premarin (estrogen) 0.625mg (Wyeth-Ayerst)

สำหรับสตรีที่ตัดมดลูกแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียวก็พอแล้ว
แต่สตรีที่ยังมีมดลูกจะต้องเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพื่อบังคับให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่อาจหนาตัวขึ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจน หลุดลอกออกมาเป็นเลือดคล้ายประจำเดือน

26. หากผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกแล้ว แพทย์ให้รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน แล้วทำไมยังมีอาการร้อนวูบวาบ และนอนไม่หลับ

บางครั้งฮอร์โมนทดแทนที่ได้รับอาจมีปริมาณไม่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนขนาดของฮอร์โมนทดแทน

27. การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแตกต่างจากฮอร์โมนทดแทนอย่างไร

ถึงแม้จะมีลักษณะแผงยาและวิธีรับประทานยาตามลูกศรคล้ายกัน แต่ฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดเป็นฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์ ไม่ใช่ฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายต้องการในช่วง Menopause และยังมีความแรงมากกว่าในฮอร์โมนทดแทนหลายสิบเท่าจึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้แทนกัน

28. ทำไมฮอร์โมนทดแทนส่วนใหญ่จึงประกอบด้วยยาเม็ด 2 สีในแผงเดียวกัน

ฮอร์โมนชนิดที่มี 2 สีในแผงเดียวกันหมายความว่าสตรีจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนที่มีโปรเจสโตรเจนร่วมด้วย ทั้งนี้อาจเพราะว่ายังมีมดลูกอยู่จึงจำเป็นต้องปรับรอบระดูให้เป็นปกติ หรือสตรีที่มีประวัติเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

29. ถ้ายังจำเป็นต้องคุมกำเนิดในช่วงอายุที่ใกล้วัย Menopause ควรทำอย่างไร

ควรเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอรฺโมนต่ำที่สุด เพื่อเลี่ยงอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ หรืออาจเลี่ยงมาใช้ห่วงฮอร์โมนขนาดต่ำสำหรับคุมกำเนิด หากไม่ได้มีเพศสำพันธ์บ่อยครั้งการใช้ถุงยางอนามัยก็ถือเป็นวิธีที่เหมาะสม

30. เมื่อเข้าวัย Menopause ความสนใจทางเพศจะหมดไปจริงหรือไม่

ระดับฮอร์โมนทางเพศที่ลดต่ำทำให้ความชุ่มชื้นของผนังช่องคลอดหมดไป จึงรู้สึกเจ็บมากเวลามีเพศสัมพันธ์ เป็นผลให้ความสนใจทางเพศลดลง การใช้ฮอร์โมนทดแทนสามารถลดปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

31. เมื่อไรที่ว่าร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ระบบปัสสาวะ ช่องคลอด หัวใจ หรือกระดูก ไม่ต้องการฮอร์โมนทดแทนอีกต่อไป

หากต้องการรักษาอาการ Menopause ทั่วไป ใช้เวลาเพียง 2-3 ปี อาการเหล่านั้นควรจะหายไป แต่ตราบใดที่ร่างกายยังขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน พบว่าผิวหนังแห้งย่น ปัสสาวะเล็ด ช่องคลอดแห้ง คัน อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีอาการที่มองไม่เห็นได้แก่ เนื้อกระดูกเริ่มบางลง ระดับไขมันในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นนำไปสู่ความเสี่ยงของกระดูกหักและโรคหัวใจขาดเลือด จึงแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5-10 ปี

32. หากทานฮอร์โมนทดแทนควรพบแพทย์บ่อยแค่ใหน

ควรมาพบแพทย์อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อตรวจเช็คร่างกาย ได้แก่การตรวจภายใน ตรวจเต้านม ในบางคลินิกอาจได้รับการตรวจวัดระดับไขมันในกระแสเลือด และตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกด้วย

33. ถ้าสตรีเข้าวัย Menopause แล้วรับประทานเฉพาะฮอร์โมนทดแทนจะมีโอกาสตั้งครรภ์หรือไม่

เมื่อสตรีเข้าสู่วัยหมดระดู โอกาสที่จะตั้งครรภ์จะน้อยกว่าในสตรีวัยเจริญพันธ์มาก อย่างไรก็ตามควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย ในช่วงที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน

34. ควรรับประทานฮอร์โมนทดแทนเวลาเดียวกันทุกวันหรือไม่

ถ้าทำได้เป็นเรื่องดี เพราะระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดจะสม่ำเสมอ ไม่สูงเกินไป หรือต่ำเกินกว่าระดับที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน

35. ถ้าทานฮอร์โมนทดแทนแล้วต้องทำงานที่ตากแดดบ่อยๆ เป็นอะไรหรือไม่

จากที่เคยทราบว่าฮอร์โมนในยาคุมกำเนิด อาจทำให้สีผิวเปลี่ยนแปลงได้ แต่ฮอร์โมนทดแทนมีความแรงของฮอร์โมนต่ำกว่าในยาคุมกำเนิดมาก อย่างไรก็ดีควรทาครีมกันแดดเมื่อต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ

36. ข้อเสียของฮอร์โมนทดแทนคืออะไร

ในช่วง 2-3 เดือนแรก สตรีอาจพบอาการข้างเคียงได้ ซึ่งได้แก่ มีเลือดออกบ้างระหว่างรอบเดือน เวียนศรีษะคัดตึงเต้านม ซึ่งจะค่อยลดน้อยลงในเวลาไม่กี่เดือน อย่างไรก็ตามหากเทียบคุณประโยชน์ที่จะได้รับกับอาการข้างเคียงดังกล่าว พบว่าฮอร์โมนทดแทนยังให้ประโยชน์คุ้มค่าในการรักษาอาการในวัยหมดระดูทั่วไป รวมทั้งเพิ่มความมีน้ำมีนวลให้ผิวพรรณ ลดอาการช่องคลอดแห้งและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อีกทั้งยังป้องกันโรคกระดูกพรุนและโรคหัวใจขาดเลือดด้วย

37. ฮอร์โมนทดแทนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือไม่

ฮอร์โมนทดแทนไม่ได้เพิ่มการสะสมไขมันในร่างกายแต่เพิ่มการสะสมน้ำใต้ผิวหนัง สตรีจึงดูอวบอิ่มขึ้นหลังจากรับประทานฮอร์โมนทดแทน ในขณะเดียวกันสตรีบางคนอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นบ้างราว 1 กิโลกรัมจากการสะสมของน้ำใต้ผิวหนัง

38. ฮอร์โมนทดแทนจะทำให้มีระดูต่อไปอีกหรือไม่และนานเท่าใด

ในสตรีที่เริ่มประจำเดือนไม่ปกติ แพทย์มักให้ทานฮอร์โมนทดแทนชนิดที่ปรับระดูให้เข้าสู่ปกติ อย่างไรก็ตามระดูจะมาน้อยลงและหมดไปในที่สุด จะนานแค่ใหนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล (2-4 ปี)

39. ขณะนี้ระดูเริ่มมาน้อย และขาดหายจะเริ่มรับประทานฮอร์โมนทดแทนได้เลยหรือไม่

หากได้รับการตรวจภายในและตรวจเต้านมประจำปีอยู่แล้ว สามารถเริ่มฮอร์โมนทดแทนได้เพื่อรักษาอาการในวัยหมดระดูทั่วไป รวมทั้งผิวพรรณแห้งย่น ช่องคลอดแห้ง และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอกจากนี้ยังพบว่า 5 ปีแรกที่สตรีหมดประจำเดือน เป็นช่วงที่เนื้อกระดูกมีการสลายตัวมากที่สุด และยังพบว่า 70% ของสตรีวัยนี้มีระดับของไขมันในกระแสเลือดสูงเกินมาตรฐานด้วย การรับประทานฮอร์โมนทดแทนเสียแต่เนิ่นๆจึงเป็นการป้องกันโรคกระดูกพรุนและหัวใจขาดเลือด

40. ฮอร์โมนทดแทนนำมาใช้ปรับรอบเดือนผิดปกติในวัยรุ่นได้หรือไม่

ฮอร์โมนทดแทนชนิดที่ให้ประสิทธิภาพในการควบคุมรอบประจำเดือนได้ดีในสตรีที่ใกล้หมดประจำเดือน จะสามารถนำมาใช้ ปรับรอบเดือนผิดปกติในวัยรุ่นได้

41. สตรีที่เคยเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ผิดที่ (Endometriosis) หากมีอาการ Menopause ทานฮอร์โมนทดแทนได้หรือไม่

เมื่อเข้าสู่วัย Menopause อาการของโรคนี้มักจะหายไปแต่หากสตรีจำเป็นต้องรับประทานฮอร์โมนทดแทน ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ซีงแพทย์มักจะให้ฮอร์โมนทดแทนที่มีส่วนผสมของโปรเจสเตอโรนร่วมด้วย หรือเลี่ยงมาใช้ฮอร์โมนขนาดต่ำ

42. เป็นเบาหวานทานฮอร์โมนทดแทน ได้หรือไม่

ฮอร์โมนทดแทนบางชนิดในปัจจุบันเป็นฮอร์โมนธรรมชาติไม่มีผลกระทบในสตรีที่เป็นเบาหวานชนิดไม่รุนแรง

43. มีความดันสูงทานฮอร์โมนทดแทนได้หรือไม่

ฮอร์โมนทดแทนแบบรับประทานบางชนิดสามารถใช้ได้ในสตรีที่เป็นความดันสูงชนิดไม่รุนแรง หรืออาจเลี่ยงไปใช้ฮอร์โมนทดแทนรูปแบบอื่นนอกเหนือจากการรับประทาน เช่น ชนิดแผ่นใสปิดผิวหนัง

44. สตรีบางคนกลัวว่าฮอร์โมนทดแทนจะทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

ฮอร์โมนทดแทนอาจเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของเนื้องอกบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนได้แต่ไม่ไช่เป็นตัวก่อเนื้องอก จึงแนะนำให้สตรีได้รับการตรวจคลำเต้านมก่อนใช้ฮอร์โมนทดแทนและมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน

45. สตรีที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมควรทานฮอร์โมนทดแทนหรือไม่

จาการศึกษาพบว่าสตรีที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าสตรีปกติถึง 1 เท่าตัว หากสตรีมีปัญหาเกี่ยวกับอาการ Menopause และต้องรับประทานฮอร์โมนทดแทนควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

46. ควรหมั่นตรวจเต้านมบ่อยเพียงใด

ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี และหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน

47. ถ้ามีเนื้องอกที่เต้านมหรือมดลูกจะทานฮอร์โมนทดแทนได้หรือไม่

หากได้รับการตรวจว่าเนื้องอกนั้นสัมพันธ์กับฮอร์โมนทดแทนสตรีไม่ควรรับประทานฮอร์โมนทดแทน

48. เมื่อรู้สึกว่าอาการ Menopause ดีขึ้นแล้วควรใช้ฮอร์โมนทดแทนต่อไปอีกนานเท่าไร

การใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3-5 ปีได้รับการยืนยันแล้วว่าสามารถป้องกันโรคบางอย่างที่เกิดในวัยสูงอายุได้ ทั้งนี้เนื่องจาก เอสโตรเจน สามารถควบคุมระดับของโคเลสเตอรอลในกระแสเลือด เอสโตรเจนสามารถควบคุมการขยายตัวของหลอดเลือดและ เอสโตรเจนสามารถป้องกันการสลายของแคลเซียมจากกระดูกได้ ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดเกี่ยวกับหลอดเลือดของหัวใจ โรคกระดูกพรุนและล่าสุดยังมีรายงานว่า เอสโตรเจนยังสามารถชลอการเกิดโรคสมองฝ่อหรืออัลไซเมอร์ได้อีกด้วย

49. โรคกระดูกพรุนคืออะไร

เมื่อร่างกายสูญเสียเนื้อกระดูกไปมาก กระดูกจะบางลงจนกระทั่งพรุน ทำให้สตรีมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่ายในตำแหน่ง ข้อแขน ตะโพก และสันหลัง ซึ่งจะนำไปสู่ความพิการและไม่สามารถดำรงชีวิตเป็นปกติสุขได้ ตลอดจนเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง สาเหตุสำคัญของโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดระดูเกิดเนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน

50. ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในสตรีหลังหมดระดูคืออะไร

นอกจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว สาเหตุอื่นที่สำคัญได้แก่เชื้อชาติ พบว่าคนไทยรูปร่างเล็ก บาง มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่ายเมื่อเทียบกับชาวตะวันตก อีกสาเหตุหนึ่งคือเรื่องของการขาดแคลเซียม สตรีที่ไม่นิยมดื่มนมมาโดยตลอด จะทำให้แคลเซียมสะสมในกระดูกน้อยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่าย

51. ในสตรีวัยหมดระดู จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่

การตรวจร่างกายที่คลินิก Menopause สูตินรีแพทย์จะมีเครื่องเอกซเรย์วัดความหนาแน่นของเนื้อกระดูก จะสามารถบอกแนวโน้มของโรคกระดูกพรุน และโอกาสเกิดกระดูกหักได้

52. เมื่อไรจึงควรเริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนหลังหมดระดู

เมื่ออายุ 35 ปีร่างกายของเราจะมีเนื้อกระดูกมากที่สุด หลังจากนั้นการสร้างเนื้อกระดูกจะลดน้อยลง จนกระทั่งเริ่มเข้าวัย Menopause ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดน้อยลง ทำให้กระดูกเริ่มบางตัวลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนแนะนำให้เริ่มรับประทานฮอร์โมนทดแทนตั้งแต่เริ่มเข้าวัยหมดระดู

53. คนที่น้ำหนักน้อยจะมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนหลังจากหมดระดูมากกว่าปกติหรือไม่

สตรีรูปร่างเล็กบางมักจะกระดูกเล็ก จึงทำให้น้ำหนักตัวน้อยตามไปด้วย คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนสูง

54. ทำไมเมื่อเข้าวัย Menopause มักมีอาการโรคหัวใจ

ในสภาวะที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจะทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น เมื่อไปสะสมในผนังหลอดเลือด จะก่อให้เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดความดันสูง นอกจากนี้โคเลสเตอรอลอาจทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ ถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจก็จะเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้เสียชีวิตในที่สุด

55. ฮอร์โมนทดแทนป้องกันโรคหัวใจได้จริงหรือไม่

เอสโตรเจนสามารถปกป้องผนังเส้นเลือดให้อยู่ในสภาพปกติ และทำให้ใขมันในเลือดมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี นั้นคือทำให้โคเลสเตอรอลชนิด LDL ลดลงและทำให้โคเลสเตอรอลชนิด HDL เพิ่มขึ้นจึงไม่ก่อให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน

56. โรคสมองฝ่อหรืออัลไซเมอร์เกี่ยวข้องกับวัย Menopause อย่างไร

โรคนี้ส่วนใหญ่พบในคนอายุ 65 ปีขี้นไป แต่พบในสตรีมากกว่าเกือบ 3 เท่า คนผอมซึ่งมีระดับเอสโตรเจนต่ำมีแนวโน้มจะเกิดโรคนี้มากกว่าคนอ้วนซึ่งมีเอสโตรเจนสูงกว่า ฮอร์โมนทดแทนช่วยชลอการเกิดโรคนี้ได้ เนื่องจากช่วยให้เลือดใหลเวียนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น จึงช่วยชลอการเสื่อมของเซลล์สมองให้ช้าลงได้

57. ฮอร์โมนทดแทนชนิดแผ่นใสปิดผิวหนังให้ประสิทธิภาพต่างจากฮอร์โมนทดแทนชนิดรับประทานหรือไม่

การให้ฮอร์โมนทดแทนทุกชนิด จุดประสงค์เพื่อชดเชยระดับเอสโตรเจนที่ขาดไป และไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนทดแทนชนิดรับประทานหรือแผ่นปิดผิวหนังจะให้ระดับของฮอร์โมนแก่ร่างกายในปริมาณที่เท่ากัน จึงทำให้รักษาอาการ Menopause ได้เหมือนกัน


Estrogen Patch (Schering)

58. ฮอร์โมนทดแทนชนิดแผ่นปิดผิวหนังดีกว่าชนิดรับประทานอย่างไร

สตรีที่มีข้อจำกัดในการรับประทานยา มีปัญหาโรคตับ หรือมีอาการข้างเคียงบางอย่างจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนชนิดรับประทาน เช่น ปวดศรีษะแบบไมเกรน คัดหน้าอกมาก คลื่นใส้ หรือระบบดูดซึมยาในกระเพาะอาหารไม่ดี อาจเลี่ยงมาใช้ฮอร์โมนทดแทนชนิดแผ่นปิดผิวหนังแทนได้

59. ทำไมคนมีปัญหาโรคตับจึงควรเลี่ยงยาหรือฮอร์โมนชนิดรับประทาน

เมื่อรับประทานยา ยาส่วนใหญ่ต้องแตกตัวที่ตับก่อนเสมอ จึงสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ การเลือกใช้ยาที่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ยาจะเข้าสู่กระแสเลือดทันทีโดยไม่ต้องผ่านตับจึงเลี่ยงการเพิ่มภาระการทำงานของตับได้ระดับหนึ่ง

60. ฮอร์โมนทดแทนชนิดแผ่นมีวิธีใช้ต่างจากชนิดรับประทานหรือไม่

ฮอร์โมนชนิดแผ่นสามารถให้เอสโตรเจนแก่ร่างกายได้อย่างสม่ำเสมอ ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ในขณะที่ฮอร์โมนชนิดรับประทานต้องรับประทานทุกวันติดต่อกัน การเลือกใช้ฮอร์โมนทดแทนชนิดแผ่นจึงถือเป็นทางเลือกใหม่ที่สะดวกใช้และเลี่ยงอาการข้างเคียงได้

แผ่นพับ ซึ่งแปลจาก 150 Most-Asked Questions About Menopause :
What Women Really Want to Know
Ruth S. Jacobowitz


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค