โรค มือ เท้า ปาก (Hand, Foot and Mouth Disease)
ICD-10: B08.4

โรค มือ เท้า ปาก (HFMD) คืออะไร

โรค มือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบบ่อยในทารกและเด็ก เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่ากลุ่มอายุอื่น มีอาการสำคัญคือ ไข้ เจ็บในปาก มีผื่นซึ่งมีตุ่มน้ำพองใส (rash with blister) โรค มือ เท้า ปาก เริ่มด้วยไข้เล็กน้อย เบื่ออาหาร รู้สึกอ่อนเพลีย (feeling sick) และมักจะเจ็บคอ 1-2 วันหลังจากที่เป็นไข้ จะเริ่มเจ็บในปาก มีจุดแดงและตุ่มน้าพองใสและมักแตกออกเป็นแผล (ulcers) เช่นที่ ลิ้น เหงือก ด้านในของแก้ม อีก 1-2 วันที่ผิวหนังก็เริ่มมีจุดแดงและตุ่มน้ำพองใส ผื่นจะไม่คันและมักเป็นที่ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาจมีผื่นขึ้นที่ก้น ผู้ที่ป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปาก อาจมีอาการเพียงมีผื่นขึ้นหรือมีแผลในปากเท่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่ในประเทศไต้หวัน, สิงคโปร์และมาเลเซียมีผู้ป่วยอาการรุนแรง บางรายเสียชีวิต

จำนวนป่วยในประเทศไทย

ปี พ.ศ. ราย เสียชีวิต
2544 1,434 3
2545 ถึง มิถุนายน 1,279 1

สาเหตุเสียชีวิตจาก Myocarditis และ Pulmonary edema

โรค มือ เท้า ปาก เหมือนกันกับ โรคปากและเท้าเปื่อย หรือไม่

ไม่ไช่ โรค มือ เท้า ปาก ไม่ใช่โรคปากและเท้าเปื่อยที่พบใน วัว ควาย หมู แกะ ถึงจะดูชื่อคล้ายกันแต่ไม่ใช่โรคที่เกี่ยวข้องกันเลย

สาเหตุ

เกิดได้จากไวรัสหลายชนิด ที่บ่อยที่สุดก็คือ coxsackievirus A16 บางครั้งเกิดจาก enterovirus 71 หรือเกิดจาก enterovirus เช่น polioviruses, coxsackieviruses, and echoviruses.

เป็นโรคที่รุนแรงใช่หรือไม่.

ไม่ใช่ โรค มือ เท้า ปาก ที่เกิดจาก coxsackievirus A16 หายได้เองใน 7-10 วัน โดยไม่มีโรคแทรกซ้อน มีน้อยมากที่อาจเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส (aseptic or viral meningitis) ซึ่งจะมีไข้ ปวดหัว คอแข็ง ปวดหลัง และจะต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย 2-3 วัน ส่วน โรค มือ เท้า ปากที่เกิดจาก enterovirus 71 (EV71) ก็อาจเกิดเยื่อสมองอักเสบจากไวรัส และส่วนน้อยมากอาจเกิดไข้สมองอักเสบ (encephalitis) หรือกลุ่มอาการอัมพาตคล้ายโรคโปลิโอ (poliomyelitis-like paralysis) ไข้สมองอักเสบจาก EV71 อาจรุนแรงจนเสียชีวิต เช่น เมื่อเกิดระบาด ในมาเลเซีย พ.ศ.2540 (ป่วย/ตาย 5,999/31 ) และที่ไต้หวัน พ.ศ.2541(ป่วย/ตาย 129,106/78) และในสิงคโปร์ พ.ศ.2543

ติดต่อได้ง่ายใช่หรือไม่

ใช่ เป็นโรคติดต่อได้ง่าย แพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งโดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โรคมือ เท้า ปาก ไม่ติดต่อไปหรือมาจากสัตว์เลี้ยง

ระยะฟักตัว

3-7 วันอาการเริ่มแรกของโรค มือ เท้า ปาก คืออาการมีไข้

กลุ่มเสี่ยง

เกิดโรคในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีแต่ผู้ใหญ่ก็มีโอกาสป่วยได้ ทุกคนมีโอกาสติดโรค เมื่อเกิดโรคแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะไวรัสชนิดที่เกิดโรค และอาจเกิดโรคซ้ำจาก enterovirus ต่างชนิดที่ยังไม่เคยติดเชื้อ

โรคเกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน

เกิดโรคเฉพาะคน หรืออาจเกิดระบาดไปทั่วโลก เกิดในฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วง เคยเกิดระบาดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (มาเลเซีย พ.ศ.2540 ไต้หวัน พ.ศ.2541 และสิงคโปร์ พ.ศ.2543)

การวินิจฉัยโรค

โรค มือ เท้า ปาก เป็นโรคหนึ่งที่ทำให้มีอาการเจ็บในปาก และสาเหตุอื่นคือ herpes virus ซึ่งเกิดการอักเสบที่ปากและเหงือก ที่เรียกว่า stomatitis โดยปกติแพทย์จะสามารถวินิจฉัยแยกโรคได้ และจากการที่มีผื่นขึ้น การส่งตรวจ throat swab (ในสัปดาห์แรก) หรือการส่งตรวจอุจจาระ (ในสัปดาห์ที่ 2) เพื่อตรวจหา enterovirus 71 ใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ แพทย์มักจะไม่ค่อยส่งตรวจ หรืออาจตรวจซีรัมคู่ (acute ภายใน 3 วันหลังป่วยและ convalescent ห่างจากครั้งแรก 14 วัน) ที่ titer เพิ่มขึ้น 4 เท่าต่อ enterovirus 71

การรักษา

ไม่มีการรักษาเฉพาะ อาจให้ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวด (Xylocain Viscus) แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ หลังจากการเปลี่ยนผ้าอ้อม กำจัดเชื้อที่เสื้อผ้า โดยผสมน้ำยาฟอกผ้าขาวคลอรีน 1 ถ้วยต่อน้ำ 1 แกลลอน ให้เด็กหยุดไปโรงเรียนในช่วงหลายวันแรกของการป่วย

แนะนำให้แยกผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยหยุดเรียน ไม่ร่วมกิจกรรมกับเด็กอื่น เช่นว่ายน้ำ ใช้สนามเด็กเล่น เที่ยวศูนย์การค้า เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์

เอกสารอ้างอิง

  1. การสัมมนา โรคติดเชื้อที่อุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ 3-5 เมษายน 2544 โรงแรมเอเซีย กทม. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  2. นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  3. สถานการณ์การเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา 12 กรกฎาคม 2545 ปีที่ 5 ฉบับที่ 27
  4. http://epid.moph.go.th/

ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค