โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
ICD-10: J10

โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจ โรคไข้หวัดใหญ่มีความสำคัญเนื่องจากสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็ว และมักมีความรุนแรงจากโรคแทรกซ้อน ทั้งปอดบวมจากเชื้อไวรัส และจากเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเมตาโบลิซึ่มของร่างกาย เช่น เบาหวาน เป็นต้น

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza virus ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Orthomyxovirus จากลักษณะของแอนติเจนที่แตกต่างกันทำให้แบ่งชนิดของ Influenza virus ได้ 3 ชนิด (Type) คือ A, B และ C Type A, B คือ ชนิดที่ก่อการระบาดโดยทั่วไป Type C ก่อโรคได้ประปราย ยังไม่พบว่าเป็นสาเหตุของการระบาดที่สำคัญ

การติดต่อ

โดยการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในอากาศ หรือหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อไวรัสนี้เข้าไป

ระยะฟักตัว

ประมาณ 1-3 วัน

ระยะติดต่อของโรค

3-5 วันนับจากวันเริ่มมีอาการ สำหรับเด็กเล็กอาจนานถึง 7 วัน

อาการและอาการแสดง

อาการมักเกิดขึ้นทันทีทันใด 1-2 วันหลังจากได้รับเชื้อ อาการเริ่มด้วย ปวดศรีษะ หนาวสั่น ต่อมามีไข้ทันทีทันใด ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก ไอแห้งๆ แล้วมีอาการคัดจมูก น้ำมูกใหล และเจ็บคอตามมา อาการมักรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา (common cold) ไข้จะอยู่นานประมาณ 3-4 วันและหายเป็นปกติใน 7 วัน แต่ในผู้สูงอายุอาการอ่อนเพลียไม่มีแรงอาจเป็นอยู่หลายสัปดาห์ อาการในเด็กอาจแยกจากโรคระบบทางเดินหายใจจากไวรัสอื่นๆได้ยาก เช่นไข้หวัดธรรมดา หลอดลมอักเสบ ปอดบวมเป็นต้น อาจมีอาการของระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง

คำแนะนำสำหรับประชาชน

  1. ป้องกันการติดเชื้อ โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรค ไม่ใช้แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้า ร่วมกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย การไอจามรดกัน และหมั่นล้างมือบ่อยๆ
  2. รักษาร่างกายให้แข็งแรง ดูแลร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศเย็น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่มีการระบาดในประเทศนั้นๆ ควรดูแลร่างกายให้แข็งแรง สำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำ การฉีดวัคซีนอาจจำเป็นสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Thawatsupha P. et al. Local Strain Influenza virus Isolated During The Period 1998-1999. International Conference on New Vaccines and Antiviral Drugs and the Tenth Annual Scientific Meeting of the Virology Association (Thailand) Bangkok 2000, 126 .
  2. CDC, Prevention and Control of Influenza Recommendations of ACIP.MMWR.1996;45 : 1-25
  3. ดาริกา กิ่งเนตร, ไข้หวัดใหญ่ ใน : วิชัย โชควิวัฒน์ บรรณาธิการ. คู่มือโรคติดต่อที่กลับเป็นปัญหาใหม่. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจำกัดแห่งประเทศไทย, 2541 : 85-89
  4. อนงค์ ปริยานนท์. ไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี-พาราอินฟลูเอนซ่า. ใน : กนกรัตน์ ศิริพานิช บรรณาธิการ.โรคติดเชื้อ. กรุงเทพ : บริบัท โฮลิสติก พับบลิชชิ่งจำกัด, 2537 : 173-177
  5. สถานการณ์โรคเด่น 2543 ปีที่ 3 ฉบับ 1-6 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค