โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococal Meningitis)
ICD-10: G01, A39.0

โรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลัน ที่มีอัตราป่วยตายสูง ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วขึ้น และการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมทำให้อัตราป่วยตายลดลง ในบางประเทศที่มีโรคเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำพบว่า ลำคอของคนปกติที่ไม่มีอาการมีเชื้อ N Meningitidis  อยู่ร้อยละ 5-10 ผู้ติดเชื้อส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเกิดอาการ การระบาดของโรคโดยทั่วไปพบในพื้นที่ที่คนอยู่กันอย่างแออัด เช่น ในโรงทหาร และสถานศึกษาเป็นต้น

มีผู้ป่วยมากในเขตใต้ทะลทรายซาฮารา ของทวีปแอฟริกา เป็นแนวที่เรียกว่า African Meningitis Belt เป็นโรคประจำถิ่น (endemic) ในบริเวณนี้

ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มอายุ 5-9 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด อัตรา 0.3 ต่อแสนประชากร มีผู้ป่วยประปรายตลอดปี

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Meningococci ที่มีชื่อว่า Neisseria Meningitidis  gram-negative diplo-coccus แบ่งออกเป็น 13 serogroups คือ A, B, C, D, H, I, K, L, X, Y, Z, 29E, และ W135 ที่พบบ่อยคือ A, B, C, Y และ W135

แหล่งรังโรค

คน

การติดต่อ

โดยการแพร่กระจายเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยเชื้อออกมาทางละอองน้ำมูกน้ำลาย (Droplet) จากปากหรือจมูกของผู้เป็นพาหะ (มีเชื้อโดยไม่มีอาการ) หรือ จากผู้ป่วยแล้วผู้ใกล้ชิดรับเชื้อเข้าไป

ระยะฟักตัว

ประมาณ 2-10 วัน (โดยเฉลี่ย 3-4 วัน)

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยมีไข้สูงทันที ปวดศรีษะมาก อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน คอแข็ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ผู้ป่วยมักมีผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง (petechial rash) หรือมีจ้ำเลือดขึ้นตามตัว แขน ขา หรืออาจมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ในรายที่รุนแรงอาการจะกำเริบอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะซึม ชัก และช็อค เสียชีวิตได้ ภายใน 24 ชม.หลังจากเริ่มมีอาการ อัตราป่วยตาย meningococcemia 20-40% และ meningococcal meningitis 3-10%

คำแนะนำสำหรับประชาชน

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสละอองน้ำมูกน้ำลายจากปากและจมูกผู้ป่วย ไม่ควรเข้าไปอยู่ในที่แออัด ที่มีผู้คนหนาแน่นอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน เพราะมีโอกาส จะรับเชื้อจากผู้ที่เป็นพาหะได้ง่าย
  2. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงโดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการทำงานหักโหม จนพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนแอภูมิต้านทานลดลง
  3. วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อได้เฉพาะ Serogroup A, C, Y และ W135 ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับกลุ่ม B
  4. สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์และอุมเราะห์ที่ซาอุดิอารเบีย ต้องได้รับวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น เนื่องจากประเทศนี้ออกกฏให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศต้องแสดงเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนดังกล่าว


ป้องกันการติดโรค

เมื่อวินิจฉัยโรคนี้ ผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดโรค
(Rifampin 5mg/kg q12hr x 2 days or Ciprofloxaxin 500 mg single dose for adult)

Once diagnosed, close contacts are given an antibiotic that prevents against the spread of the infection

Antimicrobial for chemoprophylaxis of meningococcal disease
Generic name Dose adults Dose children Route Duration cost
Rifampicin 600 mg/12h. 10 mg/kg/12h. oral 2 days moderate
Spiramycin 1 mg/12h. 25 mg/kg/12h. oral 5 days moderate
Ciprofloxaxin 500 mg - oral single dose high
Ceftriaxone 250 mg - oral single dose high

การตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

วิธี latex agglutination สามารถหา antigen จาก CSF, serum และ urine

โดยการตรวจเพาะเชื้อจาก ป้ายโพรงจมูกส่วนคอ nasopharyngeal swab น้ำไขสันหลัง เลือด น้ำจากข้อ หรือใต้ผื่นจ้ำเลือด petechial aspirate

วิธี PCR สามารถหาเชื้อได้จาก CSF, blood, และน้ำเจาะข้อ

ยาที่ใช้รักษา

  1. penicillin 3แสนยูนิต/กก./วัน IV แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง หรือ ampicillin IV
  2. chloramphenicol in oil IM
  3. third-generation cephalosporins ceftriaxone, cefotaxine
ให้ยา IV อย่างน้อย 7 วัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Beneson, A.S. Control of Communication Diseases in Man. American Public Health Association, Washington, D.C., 1995.303-307.
  2. สีวิกา แสงธาราทิพย์. ใน วิชัย โชควิวัฒน์ บรรณาธิการ. คู่มือโรคติดต่อที่เป็นปัญหาใหม่. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สหกรณ์การเกษตรจำกัดแห่งประเทศไทย, 2541 : 108-112.
  3. กลุ่มงานโรคติดต่อที่เป็นปัญหาใหม่ กองโรคติดต่อทั่วไป. โรคไข้กาฬหลังแอ่น เอกสารอัดสำเนาไม่ระบุวันเดือนปีที่พิมพ์.
  4. สถานการณ์โรคเด่น 2543 ปีที่ 3 ฉบับ 1-6 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  5. การสัมมนา โรคติดเชื้อที่อุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ 3-5 เมษายน 2544 โรงแรมเอเซีย กทม. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  6. แนวทางการปฏิบัติงานการป้องกันและควบคุมโรคไข้กาฬหลังแอ่น กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข 2544
  7. นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  8. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000608.htm
  9. http://healthlink.mcw.edu/article/915772846.html


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค