โรคคางทูม (Mumps)
ICD-10: B26

โรคคางทูม เป็นการติดเชื้อและมีการอักเสบของต่อมน้ำลาย (Parotid gland) ที่อยู่บริเวณกกหู ทำให้บริเวณคางบวม จึงได้ชื่อว่าคางทูม พบในเด็กเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Paramyxovirus

แหล่งรังโรค

คน

การติดต่อ

โดยทางหายใจ (Droplet spread) และสัมผัสกับน้ำลายของผู้ป่วย

ระยะฟักตัว

ประมาณ 12-25 วัน (โดยทั่วไป 18 วัน)

ระยะติดต่อของโรค

6-7 วันก่อนมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย ไปจนถึง 9 วันหลังจากมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย

อาการและอาการแสดง

ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการ ในผู้ที่มีอาการจะมีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมา 1-2 วันจะมีอาการปวดหู เจ็บบริเวณขากรรไกร จากนั้นต่อมน้ำลายหน้าหูจะโตขึ้นจนคลำได้ โดยค่อยๆโตขึ้นจนถึงบริเวณหน้าหูและขากรรไกร ประมาณ 1 สัปดาห์จะค่อยๆลดขนาดลง อาการแทรกซ้อนได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ (พบได้ประมาณ 1 ใน 6,000 ราย) อัณฑะอักเสบในเด็กชาย วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ (พบได้ประมาณร้อยละ 15-25) บางรายอาจทำให้เป็นหมัน ในหญิงมีครรภ์ การติดเชื้อโรคคางทูมในระยะ 3 เดือนแรกอาจเพิ่มโอกาสการแท้งลูกได้

คำแนะนำสำหรับประชาชน

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  2. วิธีป้องกันดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคางทูม ซึ่งเป็นวัคซีนรวม หัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR)
    - ให้วัคซีนครั้งที่ 1 เมื่ออายุ 9 เดือน
    - ให้วัคซีนครั้งที่ 2 เมื่ออยู่ชั้นประถมปีที่ 1

เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ

  • Serology
    • ตรวจ Mumps IgM ตรวจเลือด 1 ครั้งภายใน 1 เดือน วิธี ELISA
    • ตรวจพบซีรั่มคู่ไวต่อคางทูม ต่างกันเท่ากับหรือมากกว่า 4 เท่า
  • Isolation แยกเชื้อจาก น้าลาย เลือด ปัสสาวะ น้ำไขสันหลัง ในระยะแรกของการป่วย

เอกสารอ้างอิง

  1. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการปฏิบัติงานเรื่อง การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค. กรุงเทพมหานคร : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย 2537.
  2. Beneson, A.S. Control of Communication Diseases in Man. American Public Health Association, Washington, D.C., 1995.315.
  3. สถานการณ์โรคเด่น 2543 ปีที่ 3 ฉบับ 1-6 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  4. นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค