โรคปอดบวม

โรคปอดบวมอาจเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อปอดบวมโดยตรง ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกมา หรือติดต่อโดยการใช้ภาชนะ และสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย มีระยะฟักตัวของโรค 1-3 วัน โรคนี้เป็นโรคติดต่อเฉียบพลันของระบบหายใจที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาทันท่วงที และ เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด น้ำหนักตัวน้อย เด็กในวัยขวบแรก เด็กขาดสารอาหาร เด็กมีความพิการแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจ เมื่อเป็นปอดบวมมักมีความรุนแรง

โรคปอดบวมมักเกิดตามหลังโรคไข้หวัด 2-3 วัน โดยจะมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบมักจะหายใจเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน ถ้าป่วยหนักมักจะซึม ไม่ดื่มนม ไม่ดื่มน้ำ ถ้าไข้สูงอาจชัก บางรายมีหายใจเสียงดัง ปาก เล็บ มือ เท้าเขียว และกระสับกระส่าย บางรายอาการอาจไม่ชัดเจน อาจไม่ไอ แต่ มีอาการซึม ดื่มนมหรือน้ำน้อยลงมาก ถ้ามีอาการเช่นนี้ ต้องพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ถ้ารักษาช้าหรือได้รับยาไม่ถูกต้อง อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่นหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบ ฝีในปอด เป็นต้น

อัตราการหายใจและโรคปอดบวม

โครงการ ARIC (Acute Respiratory tract Infecion in Children)

อายุแรกเกิด - 2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที
อายุ 2 เดือน - 1ปี หายใจมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที
อายุ 1ปี - 5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที

การป้องกันและรักษา

  1. หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นและไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น พักผ่อนให้เพียงพอ
  2. หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด เช่นในที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ บนรถโดยสารที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย ถ้ามีผู้ป่วยในบ้านควรแนะนำให้ปิดปากด้วยผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้า เวลาไอ หรือจาม
  4. ควรให้เด็กเล็กหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย และควรได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ และให้อาหารเสริมอย่างเพียงพอ รวมทั้งให้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด

การป้องกันโรคติดต่อที่มักจะเกิดในฤดูหนาว กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค