โรคหัดเยอรมัน (Rubella)
ICD-10: B06

เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการไข้ และออกผื่นคล้ายหัด แต่ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีผื่น ในเด็กเล็กมักปรากฏอาการเล็กน้อย แต่ในผู้ใหญ่จะมีอาการประมาณ 1-5 วัน ติดต่อได้จากการสัมผัส การหายใจ จากละอองเสมหะของผู้ป่วย จากการไอจาม

ระยะฟักตัว

ประมาณ 14-21 วัน

โรคแทรกซ้อน

โรคแทรกซ้อนที่อาจพบได้แต่ไม่บ่อย ได้แก่ อาการปวดข้อ ข้ออักเสบ สมองอักเสบ หัดเยอรมันอาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการได้ถ้าแม่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่าง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์และสงสัยว่าเป็นหัดเยอรมัน ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยอย่างละเอียด

การป้องกันและรักษา

  1. การป้องกันโดยทั่วไปเหมือนโรคหัด
  2. ให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อน ให้ร่างกายได้รับความอบอุ่น ได้รับอาหารและน้ำดื่มอย่างเพียงพอ
  3. ให้ผู้ป่วยหยุดงาน หรือหยุดโรงเรียน ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
  4. แยกผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วยออกจากผู้อื่น โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ จนถึงระยะ 7 วันหลังผื่นขึ้น
  5. โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ในขณะนี้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐให้วัคซีนรวม ป้องกัน หัด คางทูม หัดเยอรมันแก่เด็ก อายุ 4-6 ปี หลังได้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต

เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ

ได้ผลบวกข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
  1. วิธี HI (Hemaglutination Inhibition test) ตรวจเลือด 2 ครั้ง เมื่อเริ่มป่วย (acute) และครั้งที่ 2 (convalescent) ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน
  2. ตรวจ Rubella IgM
    • ในกรณีที่ตรวจ HI และพบว่าครั้งที่ 1 และ 2 ต่างกันไม่เกิน 4 เท่าแต่พบว่าระดับภูมิคุ้มกัน >= 1:128
    • ในกรณีที่ตรวจครั้งแรกหลังจากป่วยหลายวันแล้วและกรณีที่ไม่สามารถเจาะเลือดครั้งที่ 2 ได้
    • กรณีเด็กที่สงสัย Congenital Rubella

ผู้สัมผัส

  1. วิธี HI ตรวจเลือด 2 ครั้ง เมื่อสัมผัสโรค (acute) และครั้งที่ 2 (convalescent) ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน ถ้าครั้งที่ 1 และ 2 ต่างกันไม่เกิน 4 เท่าแต่พบว่าระดับภูมิคุ้มกันน้อยกว่า 1:128 ไม่ต้องตรวจ Rubella IgM ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์
  2. ถ้าตรวจเลือดได้ครั้งเดียว ตรวจ Rubella IgM
  3. ถ้าผู้สัมผัสโรคกำลังตั้งครรภ์ ตรวจเลือดครั้งแรกหลังสัมผัสโรคและอีก 2 สัปดาห์ ถ้า titer ต่างกันไม่ถึง 4 เท่า ตรวจเลือดอีก 2 สัปดาห์ต่อมา (1 เดือนหลังสัมผัสโรค)

เอกสารอ้างอิง

  1. นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  2. การป้องกันโรคติดต่อที่มักจะเกิดในฤดูหนาว กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค