โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)
ICD-10: A75.3

อัตราป่วยในประเทศไทย

พ.ศ.2543 มีผู้ป่วย 2,976 ราย อัตราป่วย 4.83 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 5 ราย พบมากในภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สาเหตุของโรค

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Rickettsia orientallis   เดิมคือ Rickettsia tsutsugamushi

แหล่งรังโรค

ตัวไรอ่อน (trombiculid mite ) จะเป็น specie ไหนขึ้นกับพื้นที่ specie ที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ Leptothrombidium deliense

ระยะฟักตัว

ตั้งแต่ 6-21 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 10-12 วัน

ระยะติดต่อ

ไม่มีการติดต่อจากคนไปคน

เชื้อ R. orientalis อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของไรหลายชนิด โดยเฉพาะ Leptothh2rombidium akamushi  และ L. deliense  ตัวแก่ของไรทั้งสองชนิดนี้ อาศัยอยู่บนหญ้า ออกไข่บนดิน เมื่อไข่ฟักตัวออกเป็นตัวไรอ่อนจะมี 6 ขา เรียก chigger ไรอ่อนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ต้องการน้ำเหลืองหรือสารน้ำจากเนื้อเยื่อเป็นอาหาร เพื่อเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ จะได้น้ำเหลืองโดยการกัดดูดจากสัตว์ เมื่อคนหรือสัตว์ผ่านมา ไรอ่อนจะกระโดดเกาะ กัดดูดน้ำเหลืองเมื่ออิ่มแล้วก็ปล่อยตัวหลุดตกไป ถ้าสัตว์ที่ถูกกัดดูดน้ำเหลืองเป็นรังโรคมีเชื้อ R. orientallis  อยู่ เชื้อนี้จะผ่านลำไส้ของตัวไรอ่อนเข้าสู่ homocele และต่อมน้ำลาย มีการเจริญแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นระหว่างที่ไรอ่อนกลายเป็นตัวแก่ เมื่อไรแก่ออกไข่ เชื้อจะเข้าไปในไข่ ทำให้ลูกของตัวไรมีเชื้อมาแต่กำเนิด (Transovarian) เมื่อไข่ที่มีเชื้ออยู่แล้วฟักออกเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนนี้จะเป็น infective chigger ไรอ่อนครอกนี้กัดคนหรือสัตว์ ก็สามารถแพร่เชื้อริคเกตเซียใปยังคนหรือสัตว์ได้

สัตว์ที่เป็นรังโรค (reservoir host) ได้แก่Rattus rattus thai  และ Bandicota bengalensis  นอกจากนี้อาจพบในสัตว์ป่า เช่น กระรอก กระแต

อาการและอาการแสดง

อาจจำแนกได้เป็น 3 แบบคือ
  1. Classical type มีไข้สูง ปวดศรีษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง ตรวจพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ ตรงกลางเป็นสะเก็ดสีดำรอบๆจะแดง เรียก Eschar ต่อมน้ำเหลืองโต บางรายมีตับม้ามโต อาจมีอาการทางปอดทางสมองร่วมด้วย (eschar ในสครับไทฟัส จะไม่เจ็บ มีขนาดเล็กกว่า eschar ของโรคแอนแทรกซ์ ไม่มี lymphadema เท่าผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ เนื่องจากโรคแอนทรกซ์ เชื้อ invade lymphatic อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิด lymphadema ได้รวดเร็ว)
  2. mild type ผู้ป่วยมีอาการน้อย มีไข้ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัวพอควรไม่มากนัก อาจพบผื่น ตาแดงเล็กน้อย ตรวจไม่พบ Eschar อาจมีตับโตบ้าง
  3. subclinical type ผู้ป่วยมีอาการอย่างอ่อนมากหรือแทบไม่มีเลย อาจมีไข้เล็กน้อย มีปวดศรีษะและมึนศรีษะบ้าง ซึ่งไม่มีอาการแน่นอน

คำแนะนำสำหรับประชาชน

  1. ป้องกันมิให้ตัวไรอ่อนกัดโดยการป้องกันส่วนบุคคล ได้แก่ใช้ยาทากันแมลงกัด ใส่เสื้อผ้าชุบสารเคมี
  2. การเลือกที่ตั้งค่ายพักในป่า ควรทำให้บริเวณค่ายพักโล่งเตียน และควรใช้ยากำจัดแมลงพ่นรอบๆที่พัก
  3. หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก
  4. เมื่อถูกไรอ่อนกัดควรไปพบแพทย์ทันที
  5. ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคได้


การตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

  1. Scrub Typhus Serology
    Weil-Felix test OX-K ให้ผลบวก titer >= 1:320
  2. Complement Fixation test (CF)
  3. Indirect Immuno Peroxidase test (IIP)
  4. IFA (Immuno Fluorescent Antibody test) เก็บ serum 2 ครั้ง

ยาที่ใช้รักษาสครับไทฟัส

  • Doxycyclin (100mg) 1 แคปซูล หลังอาหาร วันละ 2 ครั้ง 7 วัน
  • Tetracyclin (250mg) 2 แคปซูล หลังอาหาร วันละ 4 ครั้ง 7 วัน
  • Chloramphenicol (500mg) 2 แคปซูล หลังอาหาร วันละ 4 ครั้ง 7 วัน

เอกสารอ้างอิง

  1. มุกดา ตฤษณานนท์. Scrub typhus as a manifestation of fever of unknown origin. เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง การพัฒนาวิชาการควบคุมโรคติดต่อประจำปี 2535. โรงแรมเอเซียพัทยา จังหวัดชลบุรี. วันที่ 3-5 กันยายน 2535
  2. ศิริวรรณ วนิชชานนท์, สครับไทฟัส, ใน : ศรชัย หลูอารียสุวรรณ, ดนัย บุญนาค, ตระหนักจิต หะริณสุต, บรรณาธิการ, ตำราอายุรศาสตร์เขตร้อน. กรุงเทพ : บริษัทรวมทรรศน์ จำกัด, 2533 : 323-327
  3. Beneson, A.S. Control of Communication Diseases in Man. American Public Health Association, Washington, D.C., 1995.512-514.
  4. สถานการณ์โรคเด่น 2543 ปีที่ 3 ฉบับ 1-6 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  5. นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวง
  6. แผนกลยุทธการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  7. http://www.cdc.gov/travel/diseases/typhus.htm
  8. http://www.cochrane.de/cochrane/revabstr/ab002150.htm


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค