ฝากครรภ์เพื่อส่งเสริมสุขภาพ

  • ฝากครรภ์ครั้งแรกก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
  • ซักประวัติ ประวัติทางสูติศาสตร์, การเจ็บป่วย ประวัติครอบครัว และโรคทางพันธุกรรม ประวัติสังคมและปัจจัยเสี่ยง เพื่อแยกแยะการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง
  • วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก น้ำหนักตัวท่านอาจเพิ่มขึ้นเดือนละ 1 กิโลกรัมโดยเมื่อใกล้คลอดอาจเพิ่มได้ถึง 10-12 กิโลกรัม ถ้าเพิ่มน้อยไปแสดงว่าทารกหรือแม่ไม่สมบูรณ์ ถ้าเพิ่มเร็วไปอาจเป็นครรภ์แฝด หรือครรภ์เป็นพิษ หากท่านกินอาหารเหมาะสมเพียงพอ น้ำหนักเด็กแรกเกิดควรมากกว่า 3 กิโลกรัม
  • ท่านควรได้รับการวัดความดันโลหิตเพราะอาจมีโรคความดันโลหิตสูงในช่วงตั้งครรภ์
  • ตรวจหน้าท้อง เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
  • ตรวจโรคตับอักเสบชนิดบี เพื่อที่จะให้ HBIG ป้องกันให้กับเด็กแรกเกิด หากท่านเป็นพาหะของโรคนี้
  • ตรวจความเข้มข้นเม็ดเลือดแดง ว่ามีโรคโลหิตจางหรือไม่
  • ตรวจคัดกรองโรคเลือดธาลัสซีเมีย (OF, DCIP)
  • ตรวจโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ
  • ตรวจเลือดโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้และท่านอาจป่วยโดยที่ไม่ได้มีอาการ
  • ตรวจเลือดโรคเอดส์พร้อมให้ปรึกษา
  • ได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักเมื่อมาฝากครรภ์ อายุครรภ์ 13-27 สัปดาห์ และอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุครรภ์ 28-35 สัปดาห์ วัคซีนจะป้องกันเด็กแรกเกิดจากโรคบาดทะยัก
  • ท่านควรมาฝากครรภ์ตามนัด โดยปกติจะนัดตรวจทุก 4 สัปดาห์ (อายุครรภ์ 13-27 สัปดาห์) และ บ่อยขึ้นประมาณทุก 2-3 สัปดาห์ (อายุครรภ์ 28-35 สัปดาห์) เมื่อใกล้คลอดนัดตรวจทุกสัปดาห์ (อายุครรภ์ 36 สัปดาห์) ในกรณีมีข้อจำกัด ท่านควรตรวจครรภ์อย่างน้อย 4 ครั้งตลอดช่วงการตั้งครรภ์

แนะนำโดยราชวิทยาลัยสูติแพทย์แห่งประเทศไทย
เอกสารเผยแพร่โดยกรมอนามัย
ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค