ต้อกระจกคืออะไร

โรคต้อกระจกเกิดจากการขุ่นมัวของแก้วตา (เลนส์ตา) โดยปกติเลนส์ตามีลักษณะใส ทำหน้าที่รวมแสงให้ตกลงพอดีบนจอประสาทตา เมื่อเกิดต้อกระจก จอประสาทตารับแสงไม่ได้เต็มที่ทำให้ผู้ป่วยมีสายตาพร่ามัวเหมือนมองผ่านกระจกฝ้า แต่ไม่มีการอักเสบหรือเจ็บปวดใดๆ ยิ่งเลนส์ตาขุ่นขึ้นการมองเห็นก็จะลดน้อยลง

ความจริงเกี่ยวกับต้อกระจก

  • ต้อกระจกไม่ไช่โรคติดต่อ และไม่ลุกลามจากตาข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเกิดพร้อมกันทั้งสองตา แต่อาการรุนแรงอาจไม่เท่ากัน
  • การใช้สายตามากๆ ไม่เป็นสาเหตุของต้อกระจกหรือทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
  • ต้อกระจกมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ กว่าสายตาของผู้ป่วยส่วนมากจะขุ่นมัวจนมองเห็นไม่ชัด อาจใช้เวลาเป็นหลายเดือนหรือหลายปี โดยทั่วไปต้อกระจกถือว่าเป็นโรคที่รักษาได้ผลดีมาก

สาเหตุของต้อกระจก

  • อายุมากขึ้น ทำให้เลนส์ตาขุ่นตัวและแข็งขึ้น อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยอายุเพียง 40 ปี
  • อุบัติเหตุ เกิดได้กับคนทุกวัย หากดวงตาได้รับอันตรายจากการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง โดนของมีคมหรือสารเคมี หรือแสงรังสี
  • โรคตาหรือโรคทางร่างกายบางโรค เช่น การติดเชื้อ โรคเบาหวาน การรับประทานยาบางชนิด และโรคตาบางชนิดอาจเป็นสาเหตุหรือกระตุ้นให้เลนส์ขุ่นเร็วขึ้นได้
  • กรรมพันธุ์และความผิดปกติแต่กำเนิด ในกรณีที่ผู้ป่วยยังเยาว์วัย ต้อกระจกเกิดขึ้นได้จากกรรมพันธุ์ หรือการติดเชื้อและการอักเสบตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ แต่ในหลายรายต้อกระจกก็เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด

อาการของต้อกระจก

  • สายตามัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง จะมัวเร็วหรือช้ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นมัวในเนื้อเลนส์แก้วตา หากเป็นเฉพาะในบริเวณขอบๆ ผู้ป่วยจะยังมองเห็นได้ชัดเจนตามปกติ
  • เห็นภาพซ้อน สายตาพร่า สู้แสงไม่ได้ อาการระยะแรกของต้อกระจกในบางรายสายตาของผู้ป่วยจะสั้นขึ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ เมื่อต้อกระจกรุนแรงขึ้น สายตาจะขุ่นมัวจนแว่นตาช่วยอะไรไม่ได้ รูม่านตาที่ปกติเห็นเป็นสีดำจะกลายเป็นสีเหลืองหรือสีขาว
  • หากทิ้งไว้จนต้อกระจกแก่เกินไป อาจเกิดโรคต้อหินและโรคม่านตาอักเสบแทรกซ้อน ทำให้ปวดตา ตาแดง ตาบอดได้

วิธีรักษาต้อกระจก

ยาหยอดตาจะใช้ไม่ได้ผล การผ่าตัดหรือสลายต้อกระจก จะเป็นวิธีรักษาที่ช่วยให้สายตาของผู้ป่วยใสขึ้นและมองเห็นได้ดังเดิม

ขั้นตอนการรักษา

จักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยดวงตาอย่างละเอียด เพื่อแยกชนิด ตำแหน่งและความรุนแรงของต้อกระจก นอกจากนี้ยังต้องวัดความดันตา ตรวจน้ำวุ้นกับจอประสาทตาอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าต้อกระจกเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้สายตาขุ่นมัว หรือมีโรคอื่นประกอบด้วย
วิธีลอกต้อกระจกที่นิยมใช้โดยทั่วไปมี 2 วิธี ภายหลังการลอกต้อกระจกแล้ว จักษุแพทย์จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมให้แก่ผู้ป่วยเพื่อให้มองเห็นได้เป็นปกติ

วิธีสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอุลตร้าซาวด์หรือ "เฟโค"

การสลายต้อด้วยคลื่นอุลตร้าซาวด์คือวิธีล่าสุดที่ได้รับความนิยม ในการใช้วิธีนี้จักษุแพทย์จะเปิดช่องเล็กประมาณ 3 มม. ที่ผนังตาขาวเพื่อสอดเครื่องมือเข้าไปที่ตัวต้อกระจก แล้วปล่อยคลื่นอุลตร้าซาวด์ หรือคลื่นความถี่สูงเข้าสลายและขจัดต้อกระจกจนหมด เหลือไว้เพียงเปลือกหลังเลนส์แก้วตาเพื่อเป็นถุง จักษุแพทย์จะฝังเลนส์แก้วตาเทียมแทนเลนส์ตาที่ขุ่นลงในถุงนี้ แผลที่เกิดจากการรักษาวิธีนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสมานตัวเป็นปกติได้โดยไม่ต้องเย็บ ภายหลังการสลายต้อผู้ป่วยจะมองเห็นชัดเจนทันที สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ แต่ควรเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลทำความสะอาดดวงตา, รับประทานยาและหยอดตาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด

วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบดั้งเดิม

ในกรณีที่ต้อกระจกสุกแข็งตัวมาก จนไม่เหมาะกับการสลายด้วยคลื่นอุลตร้าซาวด์ จักษุแพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบดั้งเดิม โดยเปิดแผลยาวประมาณ 10 มม. ตามแนวรอยต่อระหว่างกระจกตาดำและผนังตาขาวบริเวณครึ่งบนของลูกตา เพื่อเอาเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก เหลือเปลือกหลังเลนส์แก้วตาเพื่อเป็นถุง จักษุแพทย์จะฝังเลนส์แก้วตาเทียมลงในถุงนี้ หลังจากนั้นเย็บปิดแผลด้วยไนลอนชนิดบางพิเศษ

ทำไมต้องใส่เลนส์แก้วตาเทียม (IOL)

ภายหลังการลอกเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออกแล้ว ดวงตาจะไม่มีเลนส์แก้วตาทำหน้าที่รวมแสงมีผลให้สายตายังมัวอยู่ ดังนั้นจักษุแพทย์จึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเพื่อให้มองเห็นได้เป็นปกติ เลนส์แก้วตาเทียมมีอายุการใช้งานได้นานตลอดชีพ ในบางรายเยื่อรองรับเลนส์แก้วตาเทียมอาจขุ่นตัวหลังจากการใส่เลนส์แก้วตาเทียมเป็นเวลานาน สายตาอาจมัวลงบ้าง จักษุแพทย์สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ไม่เจ็บปวดด้วยการใช้ "แยกเลเซอร์" (Yag Laser) ขจัดความขุ่นนี้ให้หมดไปได้ทันที


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค