ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ไทย คือประมาณ 2.5-6 % ของประชากร ( ถ้าคิดจากคนไทย 60 ล้านคน ก็จะมีคนเป็นโรคเบาหวานประมาณ 3 ล้านคน ) โรคเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกที่ทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง นอกจากนั้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้เกิดโรคของหลอดเลือดตีบตันได้ในทุกส่วนของร่างกาย เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตจากเส้นโลหิตสมองตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงปลายมือปลายเท้าอุดตัน และยังเป็นสาเหตุของตาบอดจากทั้งเบาหวานขึ้นตา และต้อกระจกได้อีกด้วย

เบาหวานมีอาการอย่างไรบ้าง

อาการที่สำคัญ ของเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะกลางคืน ทานน้ำบ่อยขึ้น กินเก่งขึ้น แต่น้ำหนักลดลง แต่บางรายก็ไม่มีอาการ ตรวจพบโดยบังเอิญ

แพทย์จะวินิจฉัยเบาหวานได้อย่างไร

การวินิจฉัยเบาหวาน ทำได้โดยการเจาะระดับน้ำตาลในเลือดเท่านั้น โดยให้งดอาหารก่อนเจาะเลือด 8 ชั่วโมง ถ้าระดับน้ำตาลในเลือด สูงกว่า 126 มก./ดล.ให้ทำซ้ำอีกครั้ง ถ้ายังสูงกว่า 126 มล./ดล. ถือว่าเป็นเบาหวาน แต่ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้น แล้วเจาะเลือดโดยไม่ต้องอดอาหาร แล้วระดับน้ำตาล ในเลือดสูงกว่า 200 มก./มล. ก็ถือว่าเป็นเบาหวาน

แล้วใครบ้างมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน

ผู้ที่ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ ได้แก่
  • อ้วน
  • มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัวสายตรง
  • เคยคลอดบุตรตัวโต มากกว่า 4 กก.
  • ความดันโลหิตสูง
  • ไขมันในเลือดชนิด HDL น้อยกว่า 35 มก./ ดล.
  • เคยมีประวัติของการตรวจความทนน้ำตาลกลูโคส แล้วผิดปกติ
แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุเกิน 45 ปี ควรตรวจระดับน้ำตาลเลือดเพื่อหาความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ทุก 3 ปี

เรารักษาเบาหวานไปเพื่ออะไร

จุดประสงค์ของการรักษาเบาหวาน คือ
  1. แก้ไขภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่เกิดจากระดับน้ำตาลสูงมาก จนอาจหมดสติ
  2. แก้ไข อาการของเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ฯลฯ
  3. ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากเบาหวาน โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดตีบตัน เช่น อัมพาต โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไตวาย แผลเรื้อรัง การอุดตันของหลอดเลือดแขนขา รวมทั้ง เบาหวานขึ้นตา และต้อกระจกด้วย

การควบคุมเบาหวานที่ดีคือ

สามารถควบคุมระดับน้ำตาลหลังงดอาหารได้น้อยกว่า 120 มก./ดล.

การรักษาเบาหวานทำอย่างไร

  • การรักษาโรคเบาหวาน ผู้ป่วยมีส่วนสำคัญในการรักษา มากกว่าแพทย์ การดูแลตนเองที่ถูกต้อง จะช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี และไม่มีโรคแทรกซ้อน
  • การควบคุมอาหาร เลือกทานอาหารที่มีความหวานต่ำ ปรับสัดส่วนอาหารให้เหมาะสม จะทำให้การดูดซึมกลูโคสช้าลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้
  • การให้ยารับประทาน ยารับประทาน จะช่วยกระตุ้นการหลั่งอินสุลิน ทำให้มีการใช้กลูโคสมากขึ้น ลดการสร้างกลูโคสใหม่ในร่างกาย และยับยั้งการดูดซึมกลูโคส ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงได้
  • การฉีดอินสุลิน เพื่อทดแทนอินสุลินที่ขาดไป อินสุลินจะพากลูโคสเข้าไปใช้ในเนื้อเยื่อร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลลดลงได้
  • การออกกำลังกาย ทำให้มีการใช้พลังงาน ระดับน้ำตาลลดลงได้
  • การเลือกใช้การรักษาใด ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของเบาหวาน

แนวทางการตรวจสุขภาพในผู้ใหญ่ทั่วไป
ตรวจน้าตาลในเลือด FBS เริ่มตรวจเมื่ออายุ 50 ปี ตรวจทุก 3 ปี

HbA1C test

เป็นการตรวจเลือด เพื่อหาปริมาณน้ำตาลในเลือดช่วงเวลาย้อนหลัง 3 เดือน เป็นการแสดงว่าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้พอดีหรือไม่ ค่าปกติสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานคือไม่เกิน 7% ถ้าตรวจได้น้อยกว่า 7% หมายความว่าการรักษาได้ผลดีควบคุมระดับน้ำตาลได้ ถ้าได้ค่ามากกว่า 8% หมายถึงท่านมีโอกาสเกิดโรคตา, โรคไต, มีการทำลายเส้นประสาท อาจต้องปรับแผนการรักษา ควรตรวจ HbA1C อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งหรืออาจบ่อยขึ้นถ้าระดับน้ำตาลในเลือดยังคงสูงเกินไปหรือเมื่อปรับแผนการรักษา


แสดงชนิดของยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในเลือดที่ใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

ชื่อยา ขนาดยาต่อวัน (mg) จำนวนครั้งต่อวัน
Chlopropamide 125-500 1
Glibencarmide 2.5-20 1-2
Glipizide 2.5-30 1-2
Glicazide 40-320 1-2
Gliquidone 30-240 1-2
Glimepiride 1-8 1
Repalinide 0.5-2mg (ต่อมื้อ) ก่อนอาหารทุกมื้อ
Neteglinide 120mg (ต่อมื้อ) ก่อนอาหารทุกมื้อ
Acarbose 50-100mg (ต่อมื้อ) พร้อมอาหารทุกมื้อ
Voglibose 0.2-0.3mg (ต่อมื้อ) พร้อมอาหารทุกมื้อ
Rosiglitazone 4-8 1-2
Pioglitazone 15-45 1

References

  1. นพ.รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ อายุรแพทย์ www.thaiclinic.com/medbible/dm2.html
  2. http://publichealth.state.ky.us/diabetes-hemoglobin_a1c_test.htm
  3. New Oral Hypoglycenic Agent ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย 2542
  4. นพ.ชัยชาญ ดีโรจน์วงค์ การอบรมระยะสั้นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวครั้งที่ 30 พ.ศ. 2544

ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค