โรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

การขาดความรู้และขาดการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานกับผู้ป่วยแล้วยังเป็นการสูญเสียเงินทอง และเวลาในการรักษามากมาย ดังนั้นการป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนจึงมีความสำคัญเท่าๆกับการรักษาโรคเบาหวานเลยทีเดียว

โรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการเกิดโรค และการควบคุมเบาหวาน กล่าวคือ ยิ่งเป็นโรคเบาหวานนานเท่าไรโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนก็จะมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีและขาดการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยได้แก่

โรคแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเสียชีวิตของผู้ป่วยเบาหวาน ในผู้ป่วยเบาหวาน หลอดเลือดมีโอกาสเกิดการตีบแข็งได้ง่ายกว่าคนปกติเพราะนอกจากไขมันโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ที่พบสูงในผู้ป่วยเบาหวานแล้ว พบว่าถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงโปรตีนที่เป็นตัวนำไขมันไปยังเซลล์ต่างๆจะมีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทำให้เกิดความเหนียวเกาะเลือดและเกร็ดเลือดเกิดการจับกลุ่มอุดตันได้ง่ายขึ้น จากข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าชายที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าชายปกติถึง 2 เท่าและในหญิงที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าหญิงปกติถึง 3 เท่า

โรคแทรกซ้อนทางตา

ปัจจุบันเราพบว่าโรคเบาหวานเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตาบอดมากที่สุด เราคงเคยได้ยินคำว่าเบาหวานขึ้นตา ทางการแพทย์เรียกว่า Retinopathy ซึ่งเกิดจากการควบคุมเบาหวานไม่ดีมีระดับน้ำตาลสูง ทำให้เส้นเลือดฝอยที่มาเลี้ยงจอตามีการเปลี่ยนแปลง จอตาเสื่อมสภาพลง และตาบอดในที่สุด

โรคแทรกซ้อนทางไต

มีข้อมูลสนับสนุนว่าผู้ป่วยเบาหวานเกิดไตเสื่อม เนื่องจากมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานานๆ เส้นเลือดที่มาเลี้ยงไตจึงเกิดการตีบแข็ง เมื่อมีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีจึงจะช่วยลด และชลอการเกิดไตเสื่อมได้

แผลที่เท้า

ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดแผลที่เท้า เกิดการลุกลามของแผลจนต้องตัดเท้าได้มากกว่าคนปกติหลายเท่าตัว สาเหตุของการเกิดแผลที่เท้ามักเกิดจากสาเหตุเล็กๆน้อยๆ ที่ป้องกันได้ แต่การขาดการดูแลสุขภาพเท้าที่ดีพอ ร่วมกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีพอ จึงทำให้แผลที่เกิดยากแก่การรักษาต้องตัดเท้าหรือขาทิ้งในที่สุด

ข้อแนะนำในการป้องกันโรคแทรกซ้อน

  • ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุดโดยการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในกรณีที่ต้องการรสหวาน สามารถใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น แอสปาร์แทม ทดแทนน้ำตาลได้
  • พบแพทย์ตรงตามนัด เพื่อรับการตรวจสุขภาพ และคำแนะนำในการดูแลตนเองที่ถูกต้องเหมาะสม
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่
  • ดูแลรักษาและตรวจเท้าของตนเองทุกวันถ้ามีแผลหรือมีความผิดปกติเช่นการชาไม่รับรู้ความรู้สึกควรพบแพทย์ทันที
  • แม้ไม่มีความผิดปกติทางตาก็ควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี

โรคเบาหวานไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมให้ผู้ป่วยมีชีวิตอย่างปกติสุขได้ การควบคุมเบาหวานให้ได้ผลต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขโดยปราศจากโรคแทรกซ้อนทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง จากการศึกษาในต่างประเทศมีข้อมูลสนับสนุนว่า การควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุดมีผลในการป้องกันและชลอการเกิดโรคแทรกซ้อนได้

แผ่นพับ เรียบเรียงจาก
หนังสือความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคเบาหวาน โดย พ.ญ.สุมณฑา เสรีรัตน์
หนังสือโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน โดยชมรมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน
หนังสือความรู้เรื่องโรคเบาหวานฉบับสมบูรณ์ โดย น.พ.เทพ หิมะทองคำและคณะ
ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค