ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

ดอกลำดวนเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ กลิ่นหอม มีกลีบแข็งและกลีบไม่ร่วงง่าย จึงเปรียบเสมือนผู้สูงอายุ ที่คงความดีงามไว้เป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจแก่ลูกหลานตลอดไป

  1. กระดูกหักง่าย เนื่องจากความเสื่อมของกระดูก กระดูกบางที่พบบ่อยๆ คือกระดูกสะโพก ต้นขา ข้อมือ และกระดูกสันหลัง
    การแก้ไข ดื่มนม กินปลาเล็กปลาน้อยอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรดื่มเหล้าเพราะเหล้าจะทำให้สูญเสียแคลเซียมได้มากทำให้กระดูกผุ เปราะและเสื่อมเร็ว
  2. หลงลืมบ่อย เนื่องจากเซลล์สมองเสื่อม เซลล์สมองลดลง มีการตายของเซลล์ และไม่เกิดขึ้นใหม่
    การแก้ไข ควรรวมกลุ่มในวัยเดียวกันมีกิจกรรมร่วมกัน ไม่แยกตัว ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่สังคม จะช่วยให้ความจำดีขึ้น
  3. สายตาไม่ดี เกิดจากเลนส์ตาแข็งตัว ยืดหยุ่นไม่ดี การปรับภาพจะน้อยลง จึงเห็นภาพไม่ชัด ต้องสวมแว่นตา
  4. หูตึง เกิดจากประสาทการได้ยินของหูเสื่อม ควรพบแพทย์
  5. ฟันไม่ดี ทำให้กินอาหารไม่ได้ กินช้าลง กินได้น้อย ทำให้ต้องเลือกอาหาร จึงทำให้เกิดภาวะขาดอาหารได้ ควรปรึกษาทันตแพทย์
  6. หัวใจและหลอดเลือด เกิดภาวะหลอดเลือดเสื่อม หลอดเลือดแข็งตัวโดยเฉพาะหลอดเลือดเล็กๆ ที่เลี้ยงไต สมอง หัวใจ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก เหนื่อยง่าย
    การแก้ไข กินอาหารที่เหมาะสมให้ครบ 5 หมู่ ควรระวังเรื่องอาหารตั้งแต่เยาว์วัยอย่าให้อ้วนเกินไป เมื่ออายุมากขึ้นควรหลีกเลี่ยงอาหารพวกไขมันจากสัตว์และกะทิ อาหารที่มีรสหวานจัด ควรกินข้าวซ้อมมือ กินอาหารพวกปลา ซึ่งย่อยง่าย ถั่วต่างๆ ผักผลไม้ซึ่งมีกาก ถ้าฟันดีอาจกินฝรั่งเพราะจะทำให้กรดไขมันและกลูโคสดูดซึมผ่านลำใส้ได้น้อย ควรดื่มน้ำวันละ 2 ลิตร ออกกำลังกายพอควรสม่ำเสมอ
  7. ปัญหาด้านอารมณ์ ความโกรธ เกลียด เครียด กังวล มีผลต่อร่างกายขณะมีอารมณ์ดังกล่าวต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนออกมาทำให้มีอาการใจสั่น น้ำตาลสูงขึ้น และทำให้เป็นโรคกระเพาะลำไส้ได้
    การแก้ไข ผู้ใกล้ชิด ลูกหลาน ควรให้ความรักความเข้าใจ เอาใจใส่ดูแล ให้ความเคารพนับถือ จะช่วยให้ปัญหาทางอารมณ์ในผู้สูงอายุลดน้อยลง
    เมื่อแก่เฒ่าหมายเจ้าช่วยรับใช้ เมื่อยามไข้หมายเจ้าเฝ้ารักษา
    เมื่อยามถึงวันตายวายชีวา หวังลูกช่วยปิดตาเมื่อสิ้นใจ
    จากเรื่องวิวาห์พระสมุทร
  8. หูรูดเสื่อม ท่อปัสสาวะเสื่อม ในผู้ชายจากต่อมลูกหมากโต ผู้หญิงจะมีมดลูกหย่อนดึงกระเพาะปัสสาวะลงมา ทำให้ปัสสาวะบ่อย
    การแก้ไข พบแพทย์ อาจได้รับการผ่าตัดแก้ไข
  9. เป็นลมบ่อยเนื่องจากการปรับตัวของความดันเลือดไม่ดีขณะเปลี่ยนท่าทางความดันเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว
    การแก้ไข นอนหมอนสูงเล็กน้อย ค่อยๆลุก เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอจะช่วยได้บ้าง
  10. เรอบ่อย จากท้องอืด ท้องเฟ้ออาหารไม่ย่อย เพราะเยื่อบุกระเพาะลำไส้และกล้ามเนื้อเสื่อมลง ทำให้น้าย่อยออกมาน้อย อาหารไม่ย่อย เกิดลมในกระเพาะได้
  11. ท้องผูก เกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อในลำไส้ การเคลื่อนไหวของร่างกายน้อยลง ทำให้กากอาหารเคลื่อนตัวมาสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนล่างช้าไป
    การแก้ไข กินผักผลไม้และเดินออกกำลังกาย เคลื่อนไหวไห้มากขึ้น
  12. อาจเป็นเบาหวาน เพราะเนื้อเยื่อของร่างกายไม่สามารถตอบสนองฮอร์โมนอินสุลินที่ออกมาจากตับอ่อนได้เพียงพอ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง

อาการต่างๆดังกล่าว จะเกิดแก่ผู้สูงอายุน้อยลงถ้าได้มีการเตรียมตัวปฏิบัติให้ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก การจะมาเริ่มปฏิบัติเมื่อสูงอายุแล้วนั้นจะได้ผลน้อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ปฏิบัติเลย

การปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมสำหรับวัยสูงอายุคือ

1. ด้านร่างกาย

- ดูแลรักษาให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ โดยกินอาหารให้เพียงพอครบ 5 หมู่ เนื้อสัตว์ ข้าว แป้ง น้ำตาล
ไขมัน ผัก ผลไม้ ละเว้น อบายมุขต่างๆ เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การเที่ยวกลางคืน

- ออกกำลังกายให้พอเหมาะ ไม่ให้เหนื่อยเกินไป ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

- พักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง

- การทำงานเพื่อประโยชน์ของตนและต่อสังคมที่ไม่หนักเกินไป

2. ด้านจิตใจและสังคม

- รักษาจิตใจให้สบาย มีหลักยึดมั่นในศาสนา

- พบปะสังสรรค์กับผู้อื่นตามความเหมาะสม เช่น การไปฟังธรรม การเข้าสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น

- การมีความสุขในครอบครัว ความรักในผู้สูงอายุมิได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียว แต่หมายถึงการมีคู่ไว้ช่วยคิด ปรึกษาหารือ ปรับทุกข์ซึ่งกันและกัน แต่ในบางคู่อาจมีเพศสัมพันธ์ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ และถ้าอยู่ในขอบเขตเป็นที่ยอมรับของสังคมจะเป็นอายุวัฒนะ ทำให้ชลอความแก่ได้เหมือนกัน

ผู้สูงอายุจะมีชีวิตยืนยาวและมีความสุขนั้น มักพึงพอใจที่จะอยู่กับลูกหลานและได้เห็นความเจริญก้าวหน้าของลูกหลานด้วย

 

พ่อแม่ก็แก่เฒ่า จำจากเจ้าไม่อยู่นาน

จะพบจะพ้องพาน เพียงเสี้ยววารของคืนวัน

ใจจริงไม่อยากจาก เพราะยังอยากเห็นลูกหลาน

แต่ชีพมิทนทาน ย่อมร้าวรานสลายไป

ขอเถิดถ้าสงสาร อย่ากล่าวขานให้ช้ำใจ

คนแก่ชะแรวัย ผิดเผลอไผลเป็นแน่นอน

ไม่รักก็ไม่ว่า เพียงเมตตาช่วยอาทร

ให้กินและให้นอน คลายทุกข์ผ่อนพอสุขใจ

เมื่อยามเจ้าโกรธขึ้ง ให้นึกถึงเยาว์วัย

ร้องไห้ยามป่วยไข้ ได้ไครเล่าเฝ้าเปรอปรน

เฝ้าเลี้ยงจนโตใหญ่ แม้เหนื่อยกายก็ยอมทน

หวังเพียงให้ได้ผล เติบโตจนสง่างาม

ขอโทษถ้าทำผิด ขอให้คิดทุกๆยาม

ใจแท้มีแต่ความ หวังติดตามช่วยอวยชัย

ต้นไม้ที่ใกล้ฝั่ง มีหรือหวังอยู่นานได้

วันหนึ่งคงล้มไป ทิ้งฝั่งไว้ให้วังเวง

อ.สุนทรเกตุ

การบริหารร่างกายในผู้สูงอายุมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ปอด หัวใจ กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงอยู่เสมอ

การบริหารร่างกายต้องใช้เวลานานพอควร ไม่ใช่ทำครั้งเดียวหรือสองครั้งจะได้ผลเลย การเริ่มต้นออกกำลังต้องทำทีละน้อย ให้ร่างกายปรับตัวและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การมีจิตใจเป็นสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่านขณะบริหารร่างกายจะทำให้ได้ผลมากขึ้น

การบริหารร่างกายโดยการหายใจ

วิธีบริหาร

หายใจเข้าทางจมูกช้าๆจนสุดทำให้หน้าท้องโป่งออก

หายใจออกทางปากช้าๆ ทำหน้าท้องให้แฟบลงปล่อยตัวตามสบาย

ท่าบริหารผ่อนคลายสายตา

ศีรษะตรง มองเพ่งไปข้างหน้า กลอกตาไปทาง ซ้าย บน ขวา ล่าง

ท่าบริหารคอ

ก้มศรีษะช้าๆ เงยหน้าขั้นให้ศรีษะตรง เอียงคอไปข้างใดข้างหนึ่ง หมุนคอช้าๆ

ท่าบริหารใหล่และแขน

  1. นั่งห้อยแขนลงข้างลำตัวแกว่งแขนทั้งสองข้างไปข้างหน้าหมุนเป็นวงกลม 3-5 รอบ
  2. กางแขนออกให้เสมอไหล่ หมุนแขนเป็นวงกลม จากวงเล็กๆค่อยๆใหญ่ขึ้น หมุน 3-5 รอบ หมุนย้อนทางเดิม 3-5 รอบ

การบริหารร่างกายโดยการเดิน

เดินอย่างไรจึงจะเรียกว่าเดินเพื่อสุขภาพ

  1. เดินให้เร็ว ก้าวขายาวๆ แกว่งแขนให้แรง เพื่อให้ร่างกายได้ใช้พลังงานมากๆ หัวใจจะได้เต้นเร็วขึ้น
  2. เดินติดต่อกันไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 30 นาทีในแต่ละครั้ง
  3. เดินให้ได้สัปดาห์ละ 3-5 ครั้งถ้าเดินแล้วยังไม่เหนื่อยพอต้องเพิ่มความเร็วหรือแกว่งแขนให้มากขึ้น

การบริหารร่างกายในผู้สูงอายุยังมีอีกมากมาย อาจใช้วิธีชกลม ถีบจักรยานอากาศ วิ่งเหยาะๆ ฯลฯ ตามความชอบและความเหมาะสม ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยอยู่ การออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

สราญจิตต์ กาญจนาภา, อนงค์ เทพวรรณ แผ่นพับ กันยายน 2534

ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค