วัยทองอย่างมีคุณภาพ

วัยทอง

มักจะเป็นคำเรียกผู้ที่ก้าวเข้าสู่ช่วงความเปลี่ยนแปลงของชีวิตจากวัยผู้ใหญ่ ไปเป็นผู้สูงอายุ โดยทั่ว ๆ ไปวัยทองจะเริ่มขึ้นเมื่อคนเรามีอายุ 40 ปีขึ้นไป หลาย ๆ คนไม่อยากจะก้าวเข้าสู่ช่วงของวัยทอง เพราะได้ยินได้ฟังมาว่า คนในวัยนี้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ เกิดความหงุดหงิด ไม่สบายเนื้อสบายตัว จนทำให้คนรอบข้างต้องได้รับผลกระทบไปด้วย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงวัยทองได้ แต่เราก็สามารถที่จะอยู่ได้อย่างสุขสบายในวัยทอง ถ้ามีการปฏิบัติตัวและดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และถูกต้อง นพ.สมนิมิตร มีคำแนะนำสำหรับการก้าวเข้าสู่วัยทองอย่างมีคุณภาพ

หลาย ๆ คนมีความเข้าใจว่า วัยทองคือวัยหมดประจำเดือน แต่จริง ๆ แล้ววัยทองจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนหมดประจำเดือน โดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะอยู่ในช่วงระหว่างอายุ 40-45 ปี และจะเกิดขึ้นกับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ผู้หญิงจะกลัวและวิตกกังวลกับการก้าวเข้าสู่วัยทองมากกว่า เพราะจะได้ยินได้ฟังคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา เช่น เข้าวัยทองแล้วจะแก่เร็ว ผิวพรรณจะหมองคล้ำ ไม่เต่งตึง พฤติกรรม อารมณ์เปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังมีโรคร้ายต่าง ๆ เข้ามารุมเร้า ซึ่งสิ่งที่ได้ยินต่อ ๆ กันมานี้ มีทั้งจริงและไม่จริง กรณีที่บางอย่างเป็นจริง ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นกับวัยทองทุก ๆ คน

อาการ

ในระยะแรก ๆ ที่คนเราจะเข้าสู่วัยทอง จะมีอาการต่าง ๆ ที่สามารถสังเกตุเห็นได้ชัด เช่น มีอาการหงุดหงิดง่าย นอนไม่ค่อยหลับ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกผิดปกติทั้ง ๆ ที่อากาศไม่ร้อน นอกจากนี้บางคนจะหลงลืมง่าย ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพต่ำลง ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงอายุนั้น แต่บางคนก็เข้าสู่วัยทองโดยไม่มีอาการต่าง ๆ เหล่านี้เลย แต่พบน้อย

การเปลี่ยนแปลง

สำหรับสิ่งที่เราพบได้บ่อยในความเปลี่ยนแปลงของหญิงวัยทองก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของรอบประจำเดือน โดยจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ

ช่วงแรก

อายุ 40-45 ปี ประจำเดือนจะมาเร็วขึ้น เช่นจากที่เคยมาทุกเดือน จะมาทุก ๆ 3 อาทิตย์

ช่วงที่ 2

อายุประมาณ 45-50 ปี ระยะนี้ประจำเดือนจะเริ่มห่าง เช่นว่าบางคนเดือนครึ่งมาทีหนึ่ง บางคนอาจเป็น 2 เดือน 3 เดือน มาครั้งหนึ่ง

ช่วงที่ 3

เป็นช่วงที่หมดประจำเดือนจริง ๆ อายุประมาณ 50 ปี ขึ้นไป ประจำเดือนจะหายไปเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเราจะตัดสินว่าคน ๆ นั้นหมดประจำเดือนแล้วจริง ๆ ก็ต่อเมื่อประจำเดือนหายไปครบ 12 เดือน หรือ 1 ปี

ปัญหาทางร่างกายที่จะเกิดกับวัยทองจะมี 2 ระยะด้วยกันคือ

ผลระยะสั้น

เริ่มตั้งแต่ช่วงก้าวเข้าสู่วัยทอง จนกระทั่งหมดประจำเดือนไปแล้ว ช่วงนี้จะมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากผิดปกติ มักเป็นตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เหนื่อยหน่าย หงุดหงิดง่าย ขี้กังวล นอนไม่หลับ หลงลืม

ผลระยะยาว

จะมี 3 ระบบใหญ่ ๆ คือ เกี่ยวกับระบบอวัยวะสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ โดยบางคนเมื่อหมดประจำเดือนไปนานแล้ว จะพบอาการต่าง ๆ เช่น ช่องคลอดแห้ง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะขัด อีกระบบหนึ่งเป็นระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยจะมีความเสี่ยงเพิ่มที่จะเป็นโรคดังกล่าว และระบบที่ 3 เกี่ยวกับภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุน จะพบบ่อยกับผู้ที่หมดประจำเดือนแล้ว 5 ปีขึ้นไป

ปัจจัยเสี่ยง

แต่อย่างไรก็ตาม การเกิดโรคเหล่านี้ ไม่ได้เป็นกับทุกคน แต่จะเป็นกับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น คนที่มีความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ไขมันในเลือดสูง รวมทั้งผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ก็จะเสี่ยงกับโรคหัวใจและหลอดเลือด มากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยทอง ซึ่งเสมือนเป็นปัจจัยเร่งนั่นเอง ส่วนภาวะกระดูกบางกระดูกพรุน ก็จะเสี่ยงในกลุ่มคนที่มีพันธุกรรมดังกล่าว ตลอดจนผู้ที่ทานอาหารแคลเซี่ยมน้อยมาเป็นเวลานาน เป็นต้น

การป้องกัน

เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นได้หรือไม่นั้น เป็นคำถามที่มีผู้ถามกันบ่อยมาก จุดนี้ คำตอบคือเราสามารถทำได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาแล้ว รวมไปถึงการพยายามรับประทานแคลเซี่ยมตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยการรับประทานแคลเซี่ยมนี้ เป็นเหมือนกับการฝากธนาคารไว้ก่อน เพราะเมื่อคนเราอายุ 35 ปีแล้ว แคลเซี่ยมในกระดูกจะเริ่มลดต่ำลง ถ้าเราฝากไว้เยอะ เวลาแคลเซี่ยมลดลงก็จะเหลือต้นทุนไว้เยอะ นอกจากนี้ พยายามดูแลตัวเองอย่าให้เป็นเบาหวาน ความดันสูง ด้วยการพยายามลดอาหารไขมันสูง ลดความอ้วน หรือถ้าใครเป็นโรคนี้อยู่ก็พยายามปรึกษาแพทย์สม่ำเสมอเพื่อลดปัญหาลง

การดูแลรักษาอาการของคนวัยทอง

หลาย ๆ คนจะมีอาการทางด้านอารมณ์ในวัยทอง ซึ่งจริง ๆ แล้วการที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เป็นผลกระทบมาจากการที่ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลง ยิ่งถ้าหากคนรอบข้างไม่เข้าใจ ก็จะยิ่งทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยทองมีความแปรปรวนทางด้านอารมณ์มากขึ้นไปอีก
ส่วนทางด้านร่างกายนั้น จะเป็นไปในรูปของการส่งเสริมสุขภาพมากกว่า อาจจะเข้าปรึกษาแพทย์ตามคลินิกวัยทอง เพื่อรับคำแนะนำ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นการให้ยารักษาเสมอไป ส่วนใหญ่เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจภายในเพื่อเช็คมะเร็งปากมดลูก ตรวจเลือดเบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด การทำงานของตับไต การทำงานของหัวใจ เพื่อหาความผิดปกติ ถ้าหากพบก็ต้องดูแลรักษาอาการเหล่านั้นต่อไป

การรับประทานฮอร์โมน

การเสริมฮอร์โมนนี้ จะเป็นฮอร์โมนที่เลียนแบบฮอร์โมนที่ผลิตมาจากรังไข่ เพราะวัยทองนี้เป็นวัยที่รังไข่ทำงานน้อยลงจนกระทั่งหยุดทำงานไป ไม่สร้างฮอร์โมนอีก เราจะใช้ฮอร์โมนจากภายนอกเข้าไปทำงานแทน โดยจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

คำถามที่ถามบ่อย

ถาม : อายุ 55 ปีแล้ว ยังมีประจำเดือนอยู่เลย จะมีปัญหาหรือไม่
ตอบ : การที่เราอายุมาแล้ว ยังมีประจำเดือนอยู่นั่นหมายถึงเรายังมีระดับฮอร์โมนที่สูงพอ นับว่าเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ถ้าหากตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ

ถาม : ผู้ชายวัยทอง ต้องระวังเรื่องอะไรเป็นพิเศษ
ตอบ : ควรระวังเรื่องของระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต และอาจะมีปัญหาทางด้านอารมณ์เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ถาม : อาหารเสริมและวิตามินสำหรับวัยทองจำเป็นหรือไม่
ตอบ : ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมามาก แต่ในกรณีที่จะพิจารณาใช้ ควรมีหลักคิดอย่างหนึ่งว่า ต้องพิจารณาค่าใช้จ่าย เทียบกับอาหารธรรมชาติด้วย เพราะอาหารที่คนวัยทองต้องการนั้น สามารถหาได้จากธรรมชาติทั้งสิ้น

ถาม : ยาต้องห้ามสำหรับคนวัยทอง
ตอบ : สำคัญมาก ๆ ต้องระวังยาในกลุ่ม Steroid เพราะถ้าใช้ระยะยาวจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดภาวะกระดูกพรุนกระดูกบางได้ ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ซึ่งยาพวกนี้บางทีผสมในยาหม้อ ยาลูกกลอน

นพ.สมนิมิตร เหลืองรัศมีรุ่ง แพทย์สูติ-นรีเวช
20 Sep 2001
www.thaiclinic.com/medbible/postmenopause.html


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค