โรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานป้องกันได้ง่ายกว่ารักษา

การเจ็บป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานไม่เพียงส่งผลโดยตรงกับร่างกายเท่านั้นแต่ยังสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง สร้างภาระให้คนในครอบครัว ดังนั้น การดูแลป้องกันมิให้เกิดขึ้นกับตนเองหรือคนหนึ่งคนใดในครอบครัวย่อมเป็นหนทางที่ดีกว่าการรักษา โรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานป้องกันควบคุมได้ไม่ยาก หากดูแลตนเองและครอบครัวให้มีการใช้ชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสมดังนี้

  1. มีเป้าหมายที่จะมีน้ำหนักเหมาะสมกับการมีสุขภาพดีและลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน
  2. ให้มีความกระฉับกระเฉงทุกวัน และเพิ่มการเคลื่อนใหวแบบแอโรบิค เช่นเดินเร็ว ว่ายน้ำ วิ่ง ฯลฯ อย่างน้อยวันละ 30-45 นาที/วันโดยปฏิบัติให้มากที่สุดในแต่ละสัปดาห์
  3. ลดการบริโภคอาหารที่มีพลังงาน (แคลอรี) ไขมันและโคเรสเตอรอลสูง ไม่ควรบริโภคเกินกว่า 3 มื้อต่อสัปดาห์ และบริโภคผักผลไม้ให้เพียงพอทุกมื้อ
  4. ลดการบริโภคเกลือโซเดียมลง อย่าให้เกิน 6 กรัมหรือ 1 ช้อนชา รวมทั้งลดการบริโภคน้ำตาล อย่าให้เกิน 40-45 กรัม/วัน หรือ 4 ช้อนโต๊ะ
  5. จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์และหยุดการบริโภคยาสูบหรือบุหรี่ทุกชนิด
  6. รับการตรวจวัดความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉพาะผู้มีอายุมากกว่า 40 ปีและอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
  7. เรียนรู้ว่าตัวเลขใดที่แสดงถึงความผิดปกติของระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด (มากกว่า 110 มิลลิกรัม%)
  8. ติดตามระมัดระวังความดันโลหิตหรือระดับน้ำตาลในเลือดให้บ่อยครั้งขึ้น เมื่อพบว่ามีความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน
  9. ถ้าเป็นโรคควรเสริมทักษะในการจัดการตนเอง เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ และติดตามการรักษาและเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนอย่างสม่ำเสมอ

โรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน บ่อเกิดแห่งโรคร้าย อันตรายถึงชีวิต

โรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน เป้นโรคร้ายแรงที่คนทั่วไปไม่ให้ความสำคัญและป้องกันควบคุมอย่างจริงจังเพราะอาจไม่ทราบว่าโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานต่างนำพาโรคแทรกซ้อนที่ส่งผลอันตรายถึงชีวิต เข่น

เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน

สาเหตุเบื้องต้นมาจากแรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้นหรือผนังภายในหลอดเลือดเลี้ยงสมองหนาตัวขึ้น จนทำให้หลอดเลือดแข็ง โป่งพอง ตีบตัน และแตกออก เนื้อสมองบางส่วนหรือทั้งหมดขาดเลือดไปเลี้ยง จากนั้นจะเกิดเลือดคั่งในสมองกลายเป็นอัมพาตโดยทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย และอาจเสียชีวิตในที่สุด อาการที่นำมาอาจพบได้หลายรูปแบบตั้งแต่ สับสน ชัก แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก เป็นต้น

โรคหัวใจขาดเลือด

เป็นภาวะของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดออกซิเจนไปเลี้ยง อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น หลอดเลือดอุดหรือตีบตัน หลอดเลือดแดงหดเกร็ง เป็นต้น ขาดความสมดุลย์ในการทำหน้าที่ ซึ่งในบางครั้งอาจไม่มีอาการเด่นชัด ภาวะที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดที่พบบ่อย คือ ภาวะหลอดเลือดแดงเสื่อมหรือแข็งจากแผลเป็นที่ผผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้นมากกว่าร้อยละ 70 อาการที่พบบ่อยและสังเกตุได้ เช่น เจ็บแน่นหรือจุกที่หน้าอก บางครั้งอาจเป็นลมหมดสติเนื่องจากหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวและอาจตายใด้ในทันที

ไตวาย

ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการที่หลอดเลือดแดงเล็กๆ ที่ไปเลี้ยงเนื้อไตถูกทำลาย เพราะแรงดันเลือดสูงเกินไปและผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นจนเลือดไปเล้ยงไตไม่สะดวก อาการทั่วไปสามารถพบได้ตั้งแต่ บวมตามร่างกายโดยเฉพาะที่เท้า ปัสสาวะน้อยลง คลื่นใส้ อาเจียน และเสียชีวิตเนื่องจากมีของเสียคั่งในร่างกาย

จะสังเกตุได้ว่าทุกโรคที่กล่าวมาล้วนมีสาเหตุสำคัญร่วมกัน นั่นคือโรคความดันโลหิตสูงและการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานๆ ซึ่งเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือด นำพาไขมันผิดปกติและทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น

แผ่นพับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค