โรคเรื้อน (Leprosy, Hansen's Disease)
ICD-10: A30
โรคเรื้อนคืออะไร
โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรังชนิดหนึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า ไมโคแบคทีเรียม เลแปร (Mycobacterium leprae ) ซึ่งเมื่อเช้าสู่ร่างกายแล้วเชื้อมักจะเข้าไปอาศัยอยู่ในบริเวณใต้ผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย จากนั้นประมาณ 3-5 ปี ผู้ที่ไม่มีความต้านทานต่อเชื้อโรคเรื้อนก็จะมีอาการแสดงทางผิวหนัง เช่นเป็นวงด่าง สีจาง หรือสีเข้มกว่าผิวหนังปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอาการจะลุกลามเป็นผื่นหรือตุ่มกระจายอยู่ทั่วตัว หลายคนเรียกชื่อโรคเรื้อนต่างกันไป เช่น ขี้ทูด กุฏฐัง ไทกอ หูหนาตาเล่อ โรคพยาธิเนื้อตาย เป็นต้น
อัตราความชุกของโรคเรื้อนในประเทศไทย
ปี พ.ศ. |
2539 |
2540 |
2541 |
2542 |
2543 |
ความชุกต่อประชากรหมื่นคน |
0.52 |
0.46 |
0.48 |
0.37 |
0.39 |
ผู้ป่วยรายใหม่ |
1,197 |
1,457 |
1,111 |
864 |
1,037 |
ติดต่อได้อย่างไร
การติดต่อของโรคเรื้อน ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสคลุกคลีและอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยระยะติดต่อเป็นเวลานานๆ เชื้อโรคเรื้อนมีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าอาศัยอยู่ใต้ผิวหนัง เส้นประสาทส่วนปลาย และเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนของผู้ป่วยระยะติดต่อ เมื่อเชื้อโรคเรื้อนเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 3-5 ปี จึงจะปรากฏอาการในผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคเรื้อน คนส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานต่อโรคเรื้อน เด็กมีโอกาสติดโรคมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคน้อยกว่า ผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านหรือประชาชนทั่วไปแม้ได้รับเชื้อโรคเรื้อนโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคมีเพียงประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น
มีอาการอย่างไร
โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง มีลักษณะอาการที่สังเกตได้ง่ายคือ ระยะแรกมัก มีอาการทางผิวหนังเป็นวงด่าง มีอาการชา ผิวหนังบริเวณวงด่างมักแห้งและขนร่วง อาการระยะแรกนี้หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะเกิดการกำเริบเป็นมาก กลายเป็นโรคเรื้อนระยะติดต่อมีลักษณะผิวหนังเป็นผื่นนูนแดงหนา หรือเป็นตุ่มกระจายทั่วตัว และสามารถแพร่เชื้อติดต่อได้ ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจมีการทำลายเส้นประสาททำให้เกิดอาการฝ่ามือ ฝ่าเท้าชา กล้ามเนื้อลีบ อ่อนกำลัง นิ้วมือนิ้วเท้างอ ข้อมือตก เดินเท้าตก ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ถ้าไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่องและขาดความระมัดระวังในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องในที่สุดก็จะพิการ นิ้วมือนิ้วเท้ากุดด้วนหรือถึงกับตาบอดได้
เป็นแล้วรักษาที่ไหน
โรคเรื้อนเป็นโรคผิวหนังที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ หากท่านหรือญาติพี่น้องสงสัย หรือเป็นโรคเรื้อน ตลอดจนได้เห็นบุคคลอื่น ๆ น่าสงสัยหรือเป็นโรคเรื้อน เช่น ผิวหนังเป็นวงด่าง ซึ่งชาหยิกไม่เจ็บหรือเหงื่อไม่ออก หรือมีผิวหนังเป็นผื่นแผ่นนูนแดง หรือตุ่มคล้ายลมพิษแต่ไม่คัน หรือมีอาการมือเท้าชา กล้ามเนื้ออ่อนกำลัง นิ้วงอ ข้อมือตก ข้อเท้าตก ตาหลับไม่สนิท ปากเบี้ยว อาการดังกล่าวน่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคเรื้อน ควรรีบไปพบแพทย์ หากพบว่าเป็นโรคเรื้อนจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อหยุดยั้งความพิการ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โรคเรื้อนรักษาได้อย่างไร
ปัจจุบันมียาสมัยใหม่ที่สามารถรักษาโรคเรื้อนให้หายขาดได้ภายใน 6 เดือน ถึง 2 ปี โดยผู้ป่วยที่มีเชื้อน้อย หรือมีอาการระยะเริ่มแรกของโรค จะใช้เวลารักษาเพียง 6 เดือน ส่วนผู้ป่วยที่เป็นชนิดเชื้อมาก หรือมีอาการเป็นเวลานานแล้ว จะใช้เวลา 2 ปี ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มปรากฏอาการในระยะแรกอย่างสม่ำเสมอก็ยิ่งมีโอกาสหายได้เร็วขึ้น โดยในระหว่างรักษาผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากยาที่ใช้รักษาโรคเรื้อนเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถฆ่าเชื้อโรคเรื้อนให้หายได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยยังคงต้องกินยาต่อไปจนกว่าแพทย์จะสั่งให้หยุดการรักษา
คำแนะนำสำหรับคนในครอบครัวของผู้ป่วย
การรักษาโรคเรื้อนให้หายขาดได้นั้น ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยมีข้อปฏิบัติง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
- ถ้าหากรับประทานยาแล้วมีอาการผิดปกติหรือมีอาการแทรกซ้อน เช่น เกิดผื่นบวมแดงที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น หรือปวดตามเส้นประสาท ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
- ผู้ป่วยสามารถที่จะอยู่ร่วมกับทุกคนในครอบครัวได้ตามปกติ และสมาชิกทุกคนในครอบครัวควรให้ความเห็นใจ ต้องให้กำลังใจและคอยเตือนให้ผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอและระมัดระวังในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันความพิการอยู่เสมอ
- ผู้ป่วยต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีภูมิต้านทานโรค และทุกคนที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยจะต้องไปตรวจสุขภาพร่างกายปีละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรค
เป็นโรคเรื้อนได้อย่างไร
ปัจจุบันแม้ว่าโลกของเทคโนโลยีต่าง ๆ จะเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่หลายคนก็ยังคงมีความเชื่อแบบเก่า ๆ อยู่ โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่องโรคเรื้อน หลายคนเชื่อว่าโรคเรื้อนเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ และเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดเพี้ยนไป เนื่องจากโรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นเวลานาน ๆ คนส่วนมากประมาณร้อยละ 95 จะมีภูมิต้านทานต่อโรคเรื้อน แม้จะอยู่ใกล้ชิดกับ ผู้ป่วยก็จะไม่ติดโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วหรือกำลังอยู่ระหว่างการรักษาจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น เพราะเชื้อโรคเรื้อนจะถูกทำลายด้วยยาที่ใช้รักษาจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้อีก
ผู้ป่วยโรคเรื้อนไม่น่ารังเกียจอย่างที่คิด
จากความเชื่อที่มีมาช้านานว่า โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ประกอบกับรูปลักษณ์ที่ไม่น่าดูเมื่อมีความพิการ หรือมีแผลเรื้อรัง จึงทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกรังเกียจผู้ป่วยโรคเรื้อน เนื่องจากกลัวว่าจะติดโรคนี้ถ้าหากเข้าใกล้ ซึ่งในความจริงแล้ว ความเสี่ยงที่จะติดโรคเรื้อนนั้นมีน้อยมาก เพราะในร่างกายของคนเรามีภูมิต้านทานโรคเรื้อนอยู่ในตัวแทบทุกคน คนส่วนมากจึงไม่ติดโรคเรื้อน แม้จะอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วหรือกำลังรักษาอยู่ จะไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ดังนั้นหากคนในครอบครัว หรือในหมู่บ้านของท่านป่วยเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นผู้พิการจากโรคเรื้อนก็ไม่ควรรังเกียจและควรให้ความช่วยเหลือ เป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยหรือผู้พิการเหล่านั้นสามารถอยู่ในสังคมได้โดยปกติสุขต่อไป
กำลังใจช่วยรักษาโรคได้
แม้ว่าปัจจุบันนี้ เราจะสามารถทำการรักษาโรคเรื้อนให้หายขาดได้แล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาและกลายเป็นอุปสรรคต่อการรักษาที่สำคัญยิ่ง ก็คือการที่ผู้ป่วยขาดกำลังใจหรือหมดกำลังใจที่จะเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มักจะเกิดความเบื่อหน่ายต่อการรักษาที่ต้องรักษาติดต่อกัน
อย่างน้อย 6 เดือน หรืออาจต่อเนื่องถึง 2 ปี ดังนั้น หากคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวคอยเสริมสร้างกำลังใจและดูแลเอาใจใส่ต่อผู้ป่วยอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการรักษาโรคได้ต่อไป
เสริมสร้างกำลังใจได้อย่างไร
ทราบไหมคะว่า สิ่งที่สำคัญต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อนมากที่สุดก็คือ ขวัญและกำลังใจจากคนใกล้ชิด เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทุก ๆ คน จะต้องไม่แสดงความรังเกียจหรือทำให้ผู้ป่วย
รู้สึกไม่เชื่อมั่นในตนเอง
ส่วนตัวผู้ป่วยเองก็ต้องยอมรับสภาพและหมั่นดูแลรักษาสุขภาพตนเอง กินยาตามที่แพทย์สั่ง ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพราะถ้าหากปล่อยไว้โรคเรื้อนอาจจะเรื้อรังและนำไปสู่ความพิการได้ และถ้าหากเกิดความพิการขึ้นก็ต้องระมัดระวังไม่ให้มีความพิการมากขึ้นกว่าเดิม โดยทำตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ในการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันความพิการและ
เข้าใจในสภาพของตนเอง ตลอดจนหมั่นพัฒนาความสามารถของตนเองให้ดูแลตนเองได้ โดยไม่เป็นภาระของคนรอบข้าง
เกณฑ์ทางคลินิก
มีวงด่างขาวหรือรอยนูนแดงที่ผิวหนังและมีอาการชา ร่วมกับคลำพบเส้นประสาทที่อยู่ตื้นๆได้แก่ Ulnar Nerve โตทั้งสองข้าง
เกณฑ์ห้องปฏิบัติการ
- Paucibacillary leprocy (PB) มีเชื้อน้อย มักตรวจไม่พบ acid fast bacilli จากผิวหนัง
- Multbacillary leprocy (MB) มีเชื้อมาก มักตรวจพบ acid fast bacilli จากผิวหนัง
- ตรวจพบ acid fast bacilli จากผื่นที่ผิวหนัง scrape-incision method หรือจากเยื่อบุจมูก โดยเทคนิค nasal smear หรือ nasal wash ย้อมสีวิธี Ziehl-Neelen
- ตรวจพบพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อที่มีรอยโรค เช่น ผิวหนัง ประสาท พบ acid fast bacilli
นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
แผนกลยุทธการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ กรมควบคุมโรคติดต่อ มีนาคม 2544
การรักษา leprosy
MDT เป็นการใช้ยา 2-3 ชนิดพร้อมกัน คือ dapsone(DDS), rifampicin (Rimactane) และ clofazimine (Lamprene)
การที่ใช้ยาพร้อมๆกันเป็นการป้องกันการดื้อยา MDT เป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้
ตั้งแต่ พ.ศ.2525
สำหรับ Multibacillary leprosy ใช้ยา 3 ชนิด Dapsone, Rifampicin, และ Clofazamine
สำหรับ Paucibacillary leprosyใช้ยา Rifampicin และ Dapsone
Dapsone (50 to 100 mg/d), clofazimine (50 to 100 mg/d, 100 mg three times weekly, or 300 mg monthly), and rifampin (600 mg daily or monthly). Of these drugs, only rifampin is bactericidal.
ยา Rifampicin (เป็นยาปฏิชีวนะประเภท bactericidal) จึงมีความสำคัญมาก สำหรับการรักษา Leprosy ทั้งสองประเภท ขณะนี้มียาใหม่คือ Ofloxacin แต่มีผลข้างเคียงบ้าง คือท้องเดิน คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ วิงเวียน อาการ hallucinations และ nervousness
(ROM) เป็นกลุ่มยาใหม่ใช้ single dose สำหรับ single skin lesion leprosy ประกอบด้วย Rifampicin, Ofloxacin และ Minocycline แต่ยังไม่แนะนำให้ใช้เป็นการทั่วไป
http://web.raex.com/~bbeechy/treatment.html
http://www.novartisfoundation.com/leprosy/understanding_leprosy.htm
http://www.who.int/lep/romfaq/romfaq.htm
http://www.cdc.gov/ncidod/dbmd/diseaseinfo/hansens_t.htm
ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค