โรคหัด (Measles)
ICD10: B05
โรคหัด เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัสหัด พบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 1-6 ปี ติดต่อกันได้ง่ายมาก จากการไอ จามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป โรคหัดมักเกิดระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน หากชุมชนมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด (herd immunity) สูงกว่าร้อยละ 94 ก็อาจป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้
เชื้อก่อโรค
Measles Virus ใน Genus Morbillivirus, Family Paramyxoviridae
ระยะฟักตัว
ประมาณ 10 วัน (7-18 วัน)
แหล่งรังโรค
คน
อาการและอาการแสดง
อาการเริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง มี Koplik's spot บนเยื่อบุในปาก อาการต่างๆ เหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้น ผื่นจะขึ้นประมาณวันที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายไปทั่วตัว และจางหายไปในเวลาประมาณ 14 วัน ผู้ป่วยโรคหัดอาจมีโรคแทรกซ้อน ได้แก่ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง ช่องหูอักเสบ สมองอักเสบ และภาวะทุโภชนาการ หรือขาดวิตามินเอ เมื่อเป็นหัดจะมีความรุนแรงมาก และถ้ามีปอดอักเสบร่วมด้วย อาจทำให้เสียชีวิตได้
การป้องกันและรักษา
- เมื่อสงสัยว่าเป็นหัด ควรให้แพทย์ตรวจเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ และให้ยาที่เหมาะสมถ้ามีโรคแทรกซ้อน
- ให้ผู้ป่วยนอนพัก เช็ดตัวในช่วงที่มีไข้สูง และให้อาหารอ่อนที่มีคุณค่า
- แยกผู้ป่วยจากเด็กอื่น ๆ จนถึง 4- 5 วันหลังผื่นขึ้น
- ระวังโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เพราะระยะที่เป็นหัด เด็กจะมีความต้านทานโรคบางอย่างลดลงโดยเฉพาะวัณโรค ดังนั้นจึงต้องระวังการติดเชื้อจากผู้ใหญ่
- หลายคนเชื่อว่าเด็กต้องออกหัดทุกคน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะโรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยให้เด็กได้รับวัคซีนหัด 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 อายุระหว่าง 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 อายุ 4-6 ปี
คุณสมบัติของวัคซีน
- วัคซีนที่เป็นผงแห้งค่อนข้างคงตัว หากเก็บไว้ในตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียสจะคงคุณภาพดีได้ถึง 1 ปี
- สำหรับวัคซีนที่ผสมแล้วควรเก็บในตู้เย็นให้และเก็บให้พ้นแสง
- วัคซีนที่ผสมแล้วนานเกิน 8 ชั่วโมงควรทิ้งไป
- การให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากสัมผัสผู้ป่วย จะสามารถป้องกันโรคหัดได้
- ให้วัคซีนอย่างเหมาะสมแก่ผู้ที่เสี่ยงการติดเชื้อทุกคน เพื่อที่จะจำกัดการแพร่ระบาดของโรค
- สำหรับผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนหัดชนิดเชื้อเป็นได้ ป้องกันโรคหัดโดยฉีดอิมมูโนโกลบูลิน ภายใน 6 วันหลังการสัมผัสผู้ป่วย (0.25 mg/kg ไม่เกิน 15 ml.)
- ไม่ควรใช้ Live Vaccine ในหญิงตั้งครรภ์
การป้องกันโรคติดต่อที่มักจะเกิดในฤดูหนาว กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
เอกสารอัดสำเนา กรมควบคุมโรคติดต่อ
เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ
ควรตรวจยืนยัน เมื่อมีการระบาดเป็นกลุ่ม หรือผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 9 เดือน หรือเสียชีวิต โดยมีผลบวกข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- Serology test ตรวจหา Measles IgM เจาะเลือดหลังผื่นขึ้น 4 วันได้ผลใน 24 ชั่วโมง ถ้าหากครั้งแรกให้ผลลบ ให้ตรวจครั้งที่สองหากจากครั้งแรก 14 วัน
- Isolation
- เพาะเชื้อจากเลือด (3-5 ml hepainized blood) เก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส
- เพาะเชื้อจาก น้ำมูก เสมหะ หรือ Nasopharyngeal swab
- เชื้อที่เพาะได้จะนำมาตรวจพิสูจน์ ด้วยวิธี Immuno-Fluorescent
นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค