โรคไข้ทัยฟอยด์ (Typhoid fever)
ICD-10: A01.0

โรคไข้ทัยฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทั่วโลก มักเกิดในท้องที่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาน้ำ การกำจัดสิ่งปฏิกูล และการสุขาภิบาลอาหารและน้ำ สำหรับโรคนี้มีอัตราป่วย-ตายประมาณ ร้อยละ 10 แต่ถ้าได้รับยาต้านจุลชีพ อัตราป่วย-ตายจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 และมีอัตราการกลับเป็นใหม่ประมาณร้อยละ 5-10

สถานการณ์โรค

โรคไข้ทัยฟอยด์ในประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราป่วยลดลงจาก 20 ต่อแสนประชากรในปี 2533 ลดลงเหลือ 10 ต่อแสนประชากรในปี 2542

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella typhi

การติดต่อ

โดยรับประทานอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคนี้ ส่วนมากจะปนเปื้อนเชื้อจากมือคนที่เป็นพาหะ

ระยะฟักตัว

ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่ได้รับ โดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 1-3 สัปดาห์

ระยะติดต่อ

เชื้อจะออกมากับสิ่งขับถ่าย (พบในอุจจาระมากกว่าปัสสาวะ) ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนถึงระยะฟื้นไข้ (1-2 สัปดาห์) แต่ถ้าคนไข้ไม่ได้รับการรักษาจะปล่อยเชื้อได้นานถึง 3 เดือนหลังจากมีอาการ และร้อยละ 2-5 จะกลายเป็นพาหะถาวร

อาการและอาการแสดง

มีไข้สูงลอย ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย แน่นท้อง เบื่ออาหาร ไอแห้งๆ มีผื่นที่เรียกว่า rose spot บางครั้งมีแผลที่ลำไส้เล็ก เกิดเลือดออก และลำไส้ทะลุได้ พบอาการท้องผูกมากกว่าท้องร่วง

คำแนะนำสำหรับประชาชน

  1. ควรให้ความสำคัญกับการล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากใช้ส้วม
  2. กำจัดอุจจาระให้ถูกหลักสุขาภิบาล
  3. ให้ความพิถีพิถันกับความสะอาดในการจัดเตรียมอาหาร การจับต้องอาหาร ใส่ใจเป็นพิเศษกับคุณภาพของสลัด และอาหารอื่นที่รับประทานขณะเย็น หากไม่แน่ใจควรรับประทานอาหารขณะร้อนและปรุงสุกแล้วเท่านั้น
  4. วัคซีนในปัจจุบันประเทศไทยใช้เฉพาะชนิดกิน การให้วัคซีนใช้เฉพาะคนที่เสี่ยงต่อโรคนี้เท่านั้น เช่น จะเดินทางไปในพื้นที่ที่เกิดโรคนี้เป็นประจำ สมาชิกในครอบครัวที่เป็นพาหะ


การตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

  • Hemoculture
  • Widal Test

การเพาะเชื้อจากเลือดเป็นการยืนยันอย่างถูกต้องต่อการติดเชื้อทัยฟอยด์ ผลตรวจ Serology (Widal) นั้นแปรผลได้จำกัดเพราะพบบ่อยที่เกิด false positives and negatives

Interpretation: Culture is the definitive method for diagnosis of S. typhi or S. paratyphi infection. Serology is of only limited value because false positives and negatives are common.

ยาที่ใช้รักษาโรคทัยฟอยด์

ใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งมีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด นานประมาณ 2 สัปดาห์
ampicillin, trimethoprim-sulfamethoxazole, และ ciprofloxacin

เอกสารอ้างอิง

  1. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการปฏิบัติงานเรื่อง การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค. กรุงเทพมหานคร : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย 2538.
  2. Beneson, A.S. Control of Communication Diseases in Man. American Public Health Association, Washington, D.C., 1995.502-507.
  3. จุฑารัตน์ ถาวรนันท์. สถานะการณ์การติดเชื้อแซลโมแนลลา. เอกสารอัดสำเนา.
  4. สถานการณ์โรคเด่น 2543 ปีที่ 3 ฉบับ 1-6 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  5. http://www.thaiclinic.com/medbible/typhoid.html
  6. http://www.cdc.gov/ncidod/dbmd/diseaseinfo/typhoidfever_g.htm
  7. http://www.rcpa.edu.au/pathman/typhoid_.htm

ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค