โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) ICD-10: A75.3
อัตราป่วยในประเทศไทย
พ.ศ.2543 มีผู้ป่วย 2,976 ราย อัตราป่วย 4.83 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 5 ราย พบมากในภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Rickettsia orientallis เดิมคือ Rickettsia tsutsugamushi
แหล่งรังโรค
ตัวไรอ่อน (trombiculid mite ) จะเป็น specie ไหนขึ้นกับพื้นที่ specie ที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ Leptothrombidium deliense
ระยะฟักตัว
ตั้งแต่ 6-21 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 10-12 วัน
ระยะติดต่อ
ไม่มีการติดต่อจากคนไปคน
เชื้อ R. orientalis อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของไรหลายชนิด โดยเฉพาะ Leptothh2rombidium akamushi และ L. deliense ตัวแก่ของไรทั้งสองชนิดนี้ อาศัยอยู่บนหญ้า ออกไข่บนดิน เมื่อไข่ฟักตัวออกเป็นตัวไรอ่อนจะมี 6 ขา เรียก chigger ไรอ่อนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ต้องการน้ำเหลืองหรือสารน้ำจากเนื้อเยื่อเป็นอาหาร เพื่อเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ จะได้น้ำเหลืองโดยการกัดดูดจากสัตว์ เมื่อคนหรือสัตว์ผ่านมา ไรอ่อนจะกระโดดเกาะ กัดดูดน้ำเหลืองเมื่ออิ่มแล้วก็ปล่อยตัวหลุดตกไป ถ้าสัตว์ที่ถูกกัดดูดน้ำเหลืองเป็นรังโรคมีเชื้อ R. orientallis อยู่ เชื้อนี้จะผ่านลำไส้ของตัวไรอ่อนเข้าสู่ homocele และต่อมน้ำลาย มีการเจริญแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นระหว่างที่ไรอ่อนกลายเป็นตัวแก่
เมื่อไรแก่ออกไข่ เชื้อจะเข้าไปในไข่ ทำให้ลูกของตัวไรมีเชื้อมาแต่กำเนิด (Transovarian) เมื่อไข่ที่มีเชื้ออยู่แล้วฟักออกเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนนี้จะเป็น infective chigger ไรอ่อนครอกนี้กัดคนหรือสัตว์ ก็สามารถแพร่เชื้อริคเกตเซียใปยังคนหรือสัตว์ได้
สัตว์ที่เป็นรังโรค (reservoir host) ได้แก่Rattus rattus thai และ Bandicota bengalensis นอกจากนี้อาจพบในสัตว์ป่า เช่น กระรอก กระแต
อาการและอาการแสดง
อาจจำแนกได้เป็น 3 แบบคือ
- Classical type มีไข้สูง ปวดศรีษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง ตรวจพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ ตรงกลางเป็นสะเก็ดสีดำรอบๆจะแดง เรียก Eschar ต่อมน้ำเหลืองโต บางรายมีตับม้ามโต อาจมีอาการทางปอดทางสมองร่วมด้วย
(eschar ในสครับไทฟัส จะไม่เจ็บ มีขนาดเล็กกว่า eschar ของโรคแอนแทรกซ์ ไม่มี lymphadema เท่าผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ เนื่องจากโรคแอนทรกซ์ เชื้อ invade lymphatic อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิด lymphadema ได้รวดเร็ว)
- mild type ผู้ป่วยมีอาการน้อย มีไข้ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัวพอควรไม่มากนัก อาจพบผื่น ตาแดงเล็กน้อย ตรวจไม่พบ Eschar อาจมีตับโตบ้าง
- subclinical type ผู้ป่วยมีอาการอย่างอ่อนมากหรือแทบไม่มีเลย อาจมีไข้เล็กน้อย มีปวดศรีษะและมึนศรีษะบ้าง ซึ่งไม่มีอาการแน่นอน
คำแนะนำสำหรับประชาชน
- ป้องกันมิให้ตัวไรอ่อนกัดโดยการป้องกันส่วนบุคคล ได้แก่ใช้ยาทากันแมลงกัด ใส่เสื้อผ้าชุบสารเคมี
- การเลือกที่ตั้งค่ายพักในป่า ควรทำให้บริเวณค่ายพักโล่งเตียน และควรใช้ยากำจัดแมลงพ่นรอบๆที่พัก
- หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก
- เมื่อถูกไรอ่อนกัดควรไปพบแพทย์ทันที
- ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคได้
การตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ
- Scrub Typhus Serology
Weil-Felix test OX-K ให้ผลบวก titer >= 1:320
- Complement Fixation test (CF)
- Indirect Immuno Peroxidase test (IIP)
- IFA (Immuno Fluorescent Antibody test) เก็บ serum 2 ครั้ง
ยาที่ใช้รักษาสครับไทฟัส
- Doxycyclin (100mg) 1 แคปซูล หลังอาหาร วันละ 2 ครั้ง 7 วัน
- Tetracyclin (250mg) 2 แคปซูล หลังอาหาร วันละ 4 ครั้ง 7 วัน
- Chloramphenicol (500mg) 2 แคปซูล หลังอาหาร วันละ 4 ครั้ง 7 วัน
เอกสารอ้างอิง
- มุกดา ตฤษณานนท์. Scrub typhus as a manifestation of fever of unknown origin. เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง การพัฒนาวิชาการควบคุมโรคติดต่อประจำปี 2535. โรงแรมเอเซียพัทยา จังหวัดชลบุรี. วันที่ 3-5 กันยายน 2535
- ศิริวรรณ วนิชชานนท์, สครับไทฟัส, ใน : ศรชัย หลูอารียสุวรรณ, ดนัย บุญนาค, ตระหนักจิต หะริณสุต, บรรณาธิการ, ตำราอายุรศาสตร์เขตร้อน. กรุงเทพ : บริษัทรวมทรรศน์ จำกัด, 2533 : 323-327
- Beneson, A.S. Control of Communication Diseases in Man. American Public Health Association, Washington, D.C., 1995.512-514.
- สถานการณ์โรคเด่น 2543 ปีที่ 3 ฉบับ 1-6 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
- นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวง
- แผนกลยุทธการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
- http://www.cdc.gov/travel/diseases/typhus.htm
- http://www.cochrane.de/cochrane/revabstr/ab002150.htm
ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
|