โรคไข้สมองอักเสบ เจอี (Japanese B enchephalitis)
ICD-10: A86

โรคไข้สมองอักเสบที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส Japanese B enchephalitis (JE) เป็นโรคที่มีความรุนแรงจนถึงชีวิตได้ เนื่องจากโรคนีมีการอักเสบของระบบสมองส่วนกลาง เป็นผลให้มีอัตราป่วย-ตายสูงถึงประมาณ 10-20 และประมาณ 2 ใน 3 ของผู้รอดชีวิตจะคงมีความพิการหลงเหลืออยู่

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัส Japanese B enchephalitis ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Flavivirus

การติดต่อ

เชื้อไวรัสติดต่อมายังคนโดยถูกยุงกัด ยุงพาหะที่นำโรคคือยุงรำคาญ ได้แก่ Culex Tritaeniorhychus  และ Culex gelidus  โดยยุงชนิดนี้มักจะเพาะพันธุ์ในทุ่งนาที่มีน้ำเจิ่งนอง และตามแหล่งน้ำขังทั่วไป โดยมีหมูเป็นแหล่งรังโรคที่สำคํญ หมูที่ติดเชื้อ JE จะไม่มีอาการแต่มีเชื้อ JE ในเลือด เมื่อยุงไปกัดหมู จะไปเพิ่มจำนวนในตัวยุง เมื่อยุงมากัดคนจะแพร่เชื้อมาสู่คน

ระยะฟักตัว

1-2 สัปดาห์ หลังจากถูกยุงที่มีเชื้อกัด

อาการและอาการแสดง

ส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการ มีเพียง 1 ใน 300-500 คนเท่านั้น ที่จะแสดงอาการสมองอักเสบ เริ่มด้วย มีไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ต่อไปจะปวดศรีษะมาก มีอาเจียน ง่วงซึม จนไม่รู้สึกตัว บางรายจะมีอาการเกร็งชักกระตุกด้วย อาจหายใจไม่สม่ำเสมอ ในรายที่รุนแรงมากจะถึงแก่กรรม ประมาณวันที่ 7-9 ของโรค ถ้าพ้นระยะนี้ ก็จะเข้าสู่ ระยะฟื้นตัว กินเวลา 4-7 สัปดาห์ เมื่อหายแล้วประมาณร้อยละ 60 จะมีความพิการเหลืออยู่ เช่น อัมพาต แขนแข็งเกร็ง สติปัญญาอ่อน

คำแนะนำสำหรับประชาชน

  1. ทำลายลูกน้ำ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  2. ทำลายยุงตัวแก่ หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด ยุงนี้จะกัดเวลาพลบค่ำ ติดมุ้งลวด หรือใช้มุ้งกันยุงกัด
  3. ไม่ควรเลี้ยงหมูใกล้บ้านหรือบริเวณที่พักอาศัย อาจเลี้ยงหมูในคอกที่มีมุ้งลวด หรือฉีดวัคซีนป้องกันให้สัตว์เลี้ยง
  4. โรคนี้ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ควรพาเด็กไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนดดังนี้
    - ครั้งที่ 1 เมื่อเด็กอายุ 1 ปี 6 เดือน
    - ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรก 1-2 สัปดาห์
    - ครั้งที่ 3 เมื่อเด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน


เกณฑ์จำเพาะทางห้องปฏิบัติการ

JE IgM ใน CSF >= 40 unit (โดยวิธี ELISA)
JE IgM ใน serum >= 40 unit และอัตราส่วนระหว่าง JE IgM/Dengue IgM >=1 (โดยวิธี ELISA)

เอกสารอ้างอิง

  1. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการปฏิบัติงานเรื่อง การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค. กรุงเทพมหานคร : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย 2538.
  2. กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการดำเนินงานเฝ้าระวังสอบสวน และควบคุมกลุ่มอาการไข้สมองอักเสบ ประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) 2542.
  3. สถานการณ์โรคเด่น 2543 ปีที่ 3 ฉบับ 1-6 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  4. นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค