โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)
ICD-10: A27

โรคเลปโตสไปโรซิส เป็นกลุ่มอาการของโรคที่ติดต่อมาจากสัตว์ (Zoonosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคนี้พบได้ทั่วโลก (ยกเว้นเขตขั้วโลก) ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มเสี่ยงสำหรับโรคนี้ได้แก่ คนที่มีโอกาสสัมผัสสัตว์หรือปัสสาวะสัตว์อยู่เสมอ เช่น เกษตรกร คนงานเหมืองแร่ คนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวตาม แม่น้ำ ลำห้วย ทะเลสาบ หรือผู้ที่มีประวัติ ย่ำหรือแช่น้ำท่วมขัง เป็นต้น พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 20 เท่า

จำนวนป่วยและตายโรค Leptospirosis ประเทศไทย พ.ศ.2537-2547

พ.ศ. 2540-2543 อัตราป่วย 3.84-21.9 ต่อแสน พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัดที่พบโรค leptospirosis

บุรีรัมย์ ขอนแก่น สุรินทร์ ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา เลย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก

สาเหตุ

เชื้อที่ทำให้เกิดโรคคือLeptospira interogans  เป็นสไปโรขีตขนาดเล็ก มี 25 ซีโรกรุป และแบ่งย่อยเป็น ซีโรวาร์ 200 ชนิด

การติดต่อ

เชื้อถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะสัตว์ที่ติดเชื้อ (เช่น วัว ควาย หมู สุนัข แพะ แกะ หนู) และปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินทรายเปียกชื้น หรือพืชผัก เชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของ ตา จมูก ปาก นอกจากนี้ยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มเนื่องจากแช่น้ำอยู่นาน อาจติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์ หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ

ระยะฟักตัว

โดยเฉลี่ยประมาณ 10 วัน หรืออยู่ในระยะ 4-19 วัน (อาจเร็วภายใน 2 วันหรือนานถึง 26 วัน)

ระยะติดต่อ

ไม่พบการติดต่อจากคนถึงคน แม้ว่าจะพบเชื้อในปัสสาวะของผู้ป่วยได้นาน 1-11 เดือน ก็ตาม

อาการและอาการแสดง

อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้เฉียบพลัน ปวดศรีษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง มักปวดที่น่อง โคนขา กล้ามเนื้อหลังและท้อง ตาอักเสบแดง (conjunctival suffusion ) มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับวาย ไตวาย และเสียชีวิตได้

คำแนะนำสำหรับประชาชน

  1. พยายามหลีกเลี่ยงการลงไปแช่อยู่ในน้ำติดต่อกันนานๆ หรือไม่ลงไปว่ายน้ำในขณะที่มีน้ำท่วมตลอดจนถึงช่วงน้ำลด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่เคยมีโรคนี้ระบาด และเมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด
  2. เกษตรกรหรือผู้ที่จำเป็นต้องย่ำน้ำ หรือสัมผัสน้ำท่วมขังควรสวมรองเท้าบูตยาง ถุงมือยาง เพื่อป้องกันการแช่และสัมผัสน้ำโดยตรง
  3. ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดขยะ แหล่งทิ้งเศษอาหาร เพื่อลดการแพร่พันธุ์ของหนูทางอ้อม เมื่อพบเห็นหนูบริเวณบ้านเรือน สวน ไร่ นา ชุกชุมผิดปกติ จะต้องรีบกำจัดและทำลาย
  4. ปกปิดอาหารและน้ำ ไม่ให้หนูปัสสาวะรดได้
  5. ดื่มน้ำต้มสุกและบริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆด้วยความร้อน
  6. หากมีอาการป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ถ้าเป็นโรคนี้แล้วได้รับการรักษาช้า อาการจะรุนแรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


  1. หยดน้ำยา Latex บน slide 1 หยด (50ul)
  2. หยดซีรัม 1 หยด (50ul) ลงผสมกับน้ำยา Latex
  3. ใช้ไม้แท่งเล็กๆเขี่ยน้ำยา Latex และซีรัมให้เข้ากันภายในหลุม
  4. อ่านผลปฏิกริยาใน 2-5 นาที ผลบวกจะเกิดตะกอน

การตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

screening test

  • Latex Agglutination test (LA)
  • Dipstick assay : Leptospira- specific IgM antibodies in human serum or whole blood samples.
  • Microcapsule agglutination test (MCAT)
  • Lateral flow test

confirmatory test

  • Immunofluorescent antibody test (IFA)
    ตรวจครั้งเดียว IgM >=1:100 หรือ IgG >=400
    ส่งตรวจซีรัมคู่ (paired sera) พบมีการเพื่มอย่างน้อย 4 เท่า (four-fold rising) ของ IgM หรือ IgG
  • ELISA test for leptospirosis ให้ผลบวก
  • เพาะเชื้อจากเลือดหรือน้ำไขสันหลังพบเชื้อ Leptospira
  • ถ้าเพาะเชื้อไม่ขึ้นสามารถตรวจด้วยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR)

ยาที่ใช้รักษาเลปโตสไปโรซิส

  • Penicillin G 6 ล้านยูนิตต่อวัน แบ่งให้ 1.5 ล้านยูนิต ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 วัน
  • Doxycyclin 200 mg ต่อวัน แบ่งให้ 100 mg ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
  • Cefoxtaxime 1 gm ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน

กรณีที่ไม่สามารถแยกได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อเลปโตสไปโรซิส หรือสครับไทฟัส ควรใช้ doxycyclin แทน penicillin เพื่อรักษาได้ทั้งสองโรค

การรักษาสำหรับผู้ที่มีอาการอ่อนถึงปานกลาง

  • Doxycyclin ชนิดกิน 200 mg ต่อวัน กินครั้งละ 100 mg วันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน
  • Ampicillin 4 กรัมต่อวัน แบ่งให้ 1 กรัม ทุก 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 วัน
  • Amoxycillin กิน 500 mg ทุก 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 5-7 วัน
  • Ampicillin กิน 500-750 mg ทุก 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 5-7 วัน

References

  1. กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือวิชาการเลปโตสไปโรซิส. กรุงเทพมหานคร : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย 2540.
  2. กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือโรคติดต่อทั่วไป. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา 2540,100.
  3. สถานการณ์โรคเด่น ปีที่ 3 ฉบับ 1-6 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข, 2543
  4. การสัมมนาวิชาการ โรคติดเชื้อที่อุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ 3-5 เมษายน 2544 โรงแรมเอเซีย กทม. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  5. ยง ภู่วรวรรณ โรคติดเชื้อที่อุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ, โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2544
  6. คู่มือวิชาการ โรคเลปโตสไปโรซีส กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ
  7. แผนกลยุทธการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  8. http://www.cdc.gov/ncidod/dbmd/diseaseinfo/leptospirosis_g.htm
  9. http://www.kit.nl/biomedical_research/html/dipstick_leptospirosis.asp
  10. นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  11. ธนชัย พนาพุฒิ, Leptospirosis รพ.ขอนแก่น, Emerging and Reemerging infection disease, CME special-Medical Time, Vol 2 No 37, 16-31 มีนาคม 2546
  12. Leptospirosis, The 15th International Congress of Agricultural Medicine and Rural Health, July 20-23, 2003 Ayudhaya, Thailand.
  13. 4th Scientific Meeting of the International Leptospirosis Society 2005 November 14-16, 2005 Doungtawan, Chiangmai, Thailand.

ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค