โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
ICD-10: A82

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาท มีความรุนแรงมาก เมื่อป่วยเป็นโรคนี้แล้วผู้ป่วยทุกรายจะเสียชีวิต โรคนี้พบได้ ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

สถานการณ์โรค

ปัจจุบันในประเทศไทยอัตราป่วยโรคพิษสุนัขบ้าลดลง ปี 2523 ถึง 370 ราย ปี 2533 จำนวน 133 ราย ปี 2538 จำนวน 74 ราย และในปี 2540 จำนวน 58 ราย ซึ่งมีแนวโน้มลดลง และยังพบว่าจำนวน ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ส่วนใหญ่อายุ 5-9 ปี เพราะเป็นวัยที่ กำลังซุกซน เมื่อถูกัดหรือข่วนเล็กน้อย เด็กก็ไม่ค่อยบอกพ่อแม่ ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เท่าที่พบส่วนใหญ่ จะถูกกัดแผลใหญ่อันตราย ช่วยไม่ทัน หรือทนพิษบาดแผลไม่ไหว ถึงแม้ว่าผู้เสียชีวิตจะลดลง แต่คนที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่บ้าหรือสงสัยว่าบ้ากัด แล้วมารับ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย ทำให้ต้องเสียเงินซื้อวัคซีน จากต่างประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท (คนที่ตายส่วนใหญ่เป็นคนที่ถูกสุนัขบ้ากัด แล้วไม่ไป รับการฉีดวัคซีนหรือฉีดล่าช้า)

ตารางแสดงจำนวนป่วย/ตายโรคพิษสุนัขบ้าประเทศไทย 2538-2543

ปี พ.ศ. จำนวนป่วย/ตายโรคพิษสุนัขบ้า
2538 74
2539 77
2540 58
2541 57
2542 68
2543 47

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัส Rabies อยู่ในกลุ่ม Rhabdovirus

Rabies virions รูปทรงคล้ายลูกกระสุนปืน มี Glycoprotein เป็นรูปทรงหนามแหลมขนาด 10-nm ribonucleoprotein ประกอบด้วย RNA และ nucleoprotein

แหล่งรังโรค

ได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เช่นสุนัข แมว สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า หมาไน สกั้งค์ แรคคูน ค้างคาว ในประเทศกำลังพัฒนาสุนัขเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ

วิธีการติดต่อ

โดยเชื้อไวรัสออกมากับน้ำลายสัตว์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน หรือรอยถลอกและบาดแผลตามผิวหนัง

ระยะฟักตัว

โดยทั่วไป 3-8 สัปดาห์ อาจสั้นเพียง 9 วันหรือนานถึง 7 ปีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตำแหน่งที่เชื้อเข้าไป ความรุนแรงของบาดแผลเป็นต้น

ระยะติดต่อ

สุนัขและแมวอาจแพร่เชื้อได้ 3-7 วัน ก่อนเริ่มแสดงอาการป่วย และตลอดช่วงการป่วยของสัตว์

อาการและอาการแสดง

อาการในคน

เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันบริเวณรอยกัดหรือลามไปที่อื่น ต่อมากระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม เหงื่อออกมาก อาจมีน้ำตาไหล มักมีม่านตาขยาย กลืนลำบาก ทำให้เจ็บปวดรุนแรง กลัวน้ำ บางรายมีอาการปวดขา กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก บางรายชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

อาการในสุนัข
แบ่งเป็น 3 ระยะ

  1. ระยะเริ่มแรก อารมณ์เปลี่ยนไป ชอบซุกตัวอยู่เงียบๆ กินข้าวกินน้ำน้อยลง ระยะนี้ประมาณ 2-3 วัน
  2. ระยะตื่นเต้น มีอาการทางประสาท กัดทุกสิ่งไม่เลือกหน้า ตัวแข็ง บางตัวล้มลงชักกระตุก
  3. ระยะอัมพาต สุนัขจะมีคางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อย น้ำลายใหล อาจมีอาการขยอกหรือขย้อนเหมือนมีอะไรอยู่ในคอ ทรงตัวไม่ได้ อัมพาต และตายในที่สุด
โดยทั่วไปทั้ง 3 ระยะไม่เกิน 10 วัน สุนัขที่บ้าอย่างดุร้าย จะแสดงอาการตื่นเต้นเห็นเด่นชัด ระยะอัมพาตสั้นมาก ส่วนสุนัขบ้าแบบซึม จะแสดงอาการระยะตื่นเต้นสั้นมาก จนไม่ทันสังเกตเห็น แล้วแสดงอาการอัมพาตชัดเจน

คำแนะนำสำหรับประชาชน

  1. นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และคอยสังเกตอาการของสุนัขอยู่เสมอ
  2. ไม่ปล่อยสุนัขที่เลี้ยงไว้ไปเพ่นพ่านในที่สาธารณะโดยไม่ควบคุมดูแล
  3. เมื่อพบสุนัขเร่ร่อนไม่มีเจ้าของ หรือสงสัยว่าสุนัขบ้า ควรแจ้งสัตวแพทย์ ปศุสัตว์อำเภอ/จังหวัด
  4. ไม่คลุกคลีกับสัตว์ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หรือไม่ทราบประวัติ ไม่รบกวนสัตว์ป่วยซึมในที่มืด ไม่ล้วงคอช่วยเหลือสุนัขที่ทำท่าคล้ายมีอะไรติดคอ
  5. เมื่อถูกสุนัข แมว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ที่สงสัยว่าบ้า กัด ข่วน หรือเลีย ให้ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หลายๆครั้ง ให้ถึงก้นแผล แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที หากสุนัขเป็นปกติให้ขังดูอาการ 10 วัน ถ้าสุนัขมีอาการน่าสงสัยให้กำจัดแล้วตัดหัวนำส่งสัตว์แพทย์

Vaccination

HDCV วัคซีนฮิวแมนดิพลอยด์
PCEC วัคซีนเอ็มบริโอไก่ที่ทำให้บริสุทธิ์
PDEV วัคซีนไข่เป็ดฟักที่ทำให้บริสุทธิ์
PVRV วัคซีนเซลล์เวโรที่ทำให้บริสุทธิ์

ก่อนสัมผัสโรค
ฉีดวัคซีน 3 เข็ม, เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 7 วัน, เข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 21-28 วัน

ถ้าฉีด Pre Exposure 3 เข็มแล้ว ภายใน 1 เดือนถูกสุนัขกัดใหม่ ฉีดเพิ่มอีก 1 เข็ม ถ้าเกิน 1 เดือนฉีดเพิ่มอีก 2 เข็ม คือวันที่ 0,3

หลังสัมผัสโรค
การปฐมพยาบาล (First-aid treatment) การล้างแผลเป็นการลดปริมาณไวรัสพิษสุนัขบ้า (วิธีทางกายภาพ) โดยล้างด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำอย่างเดียว เช็ดแผลด้วย 70% แอลกอฮอล์หรือทิงเจอร์ไอโอดิน หรือ โปรวิโดน-ไอโอดิน

ผู้ที่ถูกสัตว์กัดโดยที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 5 เข็ม เข็มแรกฉีดทันทีให้เร็วที่สุด เข็มต่อไปนับจากเข็มแรก วันที่ 3, 7, 14 และ 28 และฉีด ซีรัม HRIG ด้วย ซึ่งจะฉีดให้ในวันแรกที่มาฉีดวัคซีนหรือภายในสัปดาห์แรกที่เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

1 1.1 ถูกต้องสัตว์ หรือป้อนน้ำ ป้อนอาหาร ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก
1.2 ถูกเลีย สัมผัสน้ำลาย หรือเลือดสัตว์ ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก
- ล้างบริเวณสัมผัส
- ไม่ต้องฉีดวัคซีน
2 2.1 งับ ขบ บริเวณผิวหนังที่ไม่มีสิ่งใดปกปิด
2.2 ข่วนเบาๆ หรือเป็นแผลถลอกแต่ไม่มีเลือดออก
2.3 ถูกเลียบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผลถลอก รอยขีดข่วน
- ล้างและรักษาแผล
- ฉีดวัคซีน *
3 3.1 ถูกกัด เป็นแผลเดี่ยวหรือหลายแผล
3.2 ถูกเลีย หรือมีน้ำลายถูกเยื่อเมือก ตา ปาก
3.3 มีแผลที่ผิวหนังและสัมผัสเนื้อสมองสัตว์และหรือชำแหละซากสัตว์
- ล้างและรักษาแผล
- ให้วัคซีน * และ
- อิมมูโนโกลบูลิน **
* หยุดฉีดเมื่อสุนัขหรือแมวยังปกติตลอดระยะเวลากักขังเพื่อดูอาการ 10 วัน
** กรณีถูกกัดบริเวณหน้า ศรีษะ คอ มือและนิ้วมือ หรือแผลลึกฉีกขาดมากหรือถูกกัดหลายแผล เสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง ระยะฟักตัวสั้น จึงต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลินโดยเร็วที่สุด
แต่ถ้าฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 7 วันจะเริ่มมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่ต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน


การให้วัคซีนล่วงหน้าก่อนถูกสุนัขกัด (Pre-exposure)

ให้วัคซีน 3 ครั้ง ให้คร้งแรก และต่อจากนั้นอีก 7 วันให้ครั้งที่ 2 ให้ครั้งที่ 3 หลังจาก 21 หรือ 28 วันนับจากครั้งแรก

การให้วัคซีนหลังจากถูกสุนัขกัด (Post-exposure)

ถ้ายังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน ควรต้องได้รับวัคซีน 5 ครั้ง ครั้งแรกให้ทันทีโดยรวดเร็วที่สุดหลังจากนั้นให้ต่อในวันที่ 3, 7, 14, และ 28 และให้ Human Rabies Immune Globulin โดยทั่วใปจะให้ในครั้งแรกที่มาตรวจภายในสัปดาห์แรกที่ฉีดวัคซีน

ให้ Rabies Immune Globulin 20 IU/kg ถ้าทำจากซีรัมม้า (equine antiserum) ให้ 40 units/kg. ฉีดรอบบริเวณที่ถูกกัดและที่รอยแผล ส่วนที่เหลือฉีดเข้ากล้ามในบริเวณที่ห่างจากบริเวณที่ฉีดวัคซีน

ถ้าถูกสัตว์กัดแนะนำให้ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน ไปรับการฉีดซีรัม HRIG 20 IU/kg ทันที ซึ่งจะฉีดรอบๆแผลครึ่งหนึ่งและฉีดเข้ากล้ามในบริเวณที่ห่างจากบริเวณที่ฉีดวัคซีน (ถ้าเป็น equine antiserum จะใช้ 40 IU/kg ต้องทำ skin test ก่อน ปัจจุบันแต่ละ Main Contractor จัดซื้อวัคซีนเอง) และให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากถูกกัดจะต้องฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง (เช่น HDCV หรือ PCEC) ซึ่งจะฉีดเข้ากล้าม 5 ครั้งในระยะเวลา 1 เดือน ฉีดวัคซีน 1ml เข้ากล้ามเนื้อต้นแขน วันที่ 0, 3, 7, 14, และ 30

หรือฉีดวัคซีน 0.1ml เข้าในหนัง Intradermal 2 จุดที่ต้นแขน วันที่ 0, 3, 7 และ 1 จุดวันที่ 30 และ 90 ( 2-2-2-0-1-1method คำแนะนำของ WHO)


0.1ml Intradermal Injection


การฉีดยาเข้ากล้ามตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก

การฉีดยาเข้ากล้ามหลายตำแหน่งในระยะเวลาที่สั้นลง

การฉีดยาเข้าในหนังแขน 8-0-4-0-1-1

การฉีดยาเข้าในหนังแขน 2-2-2-0-1-1


เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ

ก่อนเสียชีวิต เก็บตัวอย่าง ดังต่อไปนี้
  1. น้ำลาย, น้ำไขสันหลัง, น้ำปัสสาวะ 0.2-2 CC
  2. ปมรากผม ผิวหนังบริเวณท้ายทอย เซลล์กระจกตา
เก็บในภาชนะปลอดเชื้อ แช่เย็นที่ 0-7 องศาเซลเซียส ส่งตรวจที่
*ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, (หรือสภากาชาดไทย และกรมวิทยาศาสตรการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)

ถ้าเสียชีวิตแล้ว เก็บเนื้อสมอง (ขนาดเมล็ดถั่วเขียว) เก็บในภาชนะปลอดเชื้อ แช่เย็นที่ 0-7 องศาเซลเซียส ส่งตรวจที่
*ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, (หรือห้องชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า ทุกแห่งทั่วประเทศ)

*ไม่คิดค่าบริการถ้าส่งตรวจโดยตรง ถ้าผ่านระบบโรงพยาบาลคิดครั้งละ 1,500 บาท

วิธีตรวจวินิจฉัย

  • ตรวจหาแอนติเจนวิธี Immuno Fluorescent (IFT)
  • แยกเชื้อไวรัส การฉีดเข้าสมองหนู เซลล์เพาะเลี้ยง
  • ตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันโดย Mouse Neutralization Test (MNT) Rapid Fluorescent Focus Inhibition Test (RFFIT)
  • ตรวจสารพันธุกรรมวิธี Nested PCR


7 คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

1) สัตว์อะไรบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้า?

ที่พบมากที่สุดคือสุนัข รองลงมาคือแมว ม้า ลิงและปศุสัตว์ (วัว,ควาย) สัตว์แทะจำพวกหนู กระรอก กระแต มีรายงานว่าพบเชื้อไวรัสในน้ำลายได้ แต่พบน้อย

2) ถ้าถูกสัตว์กัดจะมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเพียงใด?

-ถ้าสัตว์ที่กัดไม่ได้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จะไม่มีโอกาสเป็นโรค -ถ้าไม่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่ ต้องคิดว่าสัตว์เป็นโรคไว้ก่อน -ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เป็นโรคกัด ไม่ป่วยเป็นโรคทุกราย โอกาสเป็นโรคโดยเฉลี่ยประมาณ 35% ขึ้นกับบริเวณที่ถูกกัด ถ้าถูกกัดที่ขา โอกาสเป็นโรคประมาณ 21 % ถ้าถูกกัดที่ใบหน้า โอกาสเป็นโรคประมาณ 88 % ถ้าแผลตื้น แผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่า แผลลึกหลายๆแผล

3) เชื้อติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร?

เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำลาย ทางติดต่อสู่คนที่พบบ่อยคือถูกกัด โดยทั่วไปเชื้อจะเข้าทางผิวหนังปกติไม่ได้ แต่อาจเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลอยู่เดิม หรือรอยข่วน นอกจากนี้ยังเข้าได้ทางเยื่อเมือก(mucosa) ได้แก่เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก ภายในปาก ทวารหนัก และ อวัยวะสืบพันธุ์ แม้ว่าเยื่อเมือกจะไม่มีบาดแผล สำหรับทางติดต่อที่มีใน รายงานแต่พบน้อย ได้แก่ ทางการหายใจ, ทางการปลูกถ่ายกระจกตา

4) ถูกสุนัขบ้ากัด นานเท่าใดจึงมีอาการ?

ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งปรากฏอาการของโรคพิษสุนัขบ้า หรือที่เรียกว่าระยะฟักตัว จะแตกต่างกันได้มาก พบได้ตั้งแต่ 4 วันจนถึง 4 ปี ผู้ป่วยประมาณ 70% จะเป็นโรคภายใน 3 เดือน หลังถูกกัด, ประมาณ 96% จะเป็นโรคภายใน 1 ปีหลังถูกกัด แต่ส่วนมากมักมีอาการในช่วงระหว่าง สัปดาห์ที่ 3 จนถึงเดือนที่ 4

5) สุนัขที่เป็นโรคอาการเป็นอย่างไร?

สุนัขที่ป่วยจะเริ่มปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลายตั้งแต่ 3 วันก่อนมีอาการ ไปจนถึง 2 วันหลังมีอาการ หลังจากนั้นจะปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลายตลอดเวลาจนกระทั่งตาย -ระยะฟักตัว พบบ่อยในระยะ 3-8 สัปดาห์ แต่พบได้ตั้งแต่ 10 วันจนถึง 6 เดือน

-อาการของโรคแบ่งได้ 2 แบบ คือ

  • แบบดุร้าย เป็นแบบที่พบบ่อย
  • แบบซึม จะแสดงอาการไม่ชัดเจน
-อาการของโรคแบ่งได้ 3 ระยะ
  1. ระยะอาการนำ สุนัขจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น จากเคยเชื่อง ชอบเล่นกลายเป็นซึม กินข้าวกินน้ำ น้อยลง ระยะนี้กินเวลา 2-3 วันก่อนเข้าระยะที่สอง
  2. ระยะตื่นเต้น เป็นอาการทางระบบประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า ตัวแข็ง น้ำลายไหล ลิ้นห้อย ต่อมามีกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ระยะพบได้ 1-7 วันก่อนเข้าระยะท้าย
  3. ระยะอัมพาต จะเกิดอาการอัมพาตทั่วตัว ถ้ามีอาการอัมพาตสุนัขจะตายใน 24 ชม. รวมระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ จนถึงตายจะไม่เกิน 10 วัน ส่วนใหญ่ตายใน 4-6 วัน
ในแบบซึมอาจมีระยะอัมพาตนานได้ถึง 2-4 วัน และ ในสุนัขที่เป็นโรคที่พิษบ้าจะไม่แสดง อาการกลัวน้ำให้เห็น

6) อาการพิษสุนัขบ้าในคนเป็นอย่างไร?

แบ่งได้ 2 แบบคล้ายสัตว์ คือ แบบกระสับกระส่าย,ดุร้าย(เกิดจากเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนอยู่ในสมองมาก)แบบนี้พบได้บ่อย และ แบบอัมพาต (เกิดจากเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนมากในไขสันหลัง)

อาการในคนแบ่งได้ 3 ระยะ

  1. ระยะอาการนำ จะเริ่มมีไข้ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัด อาจมีปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน อาการที่แปลกไป คือ อารมณ์เปลี่ยนแปลง กังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ อาการนำที่ชัดเจนที่พบบ่อยในคนไทย คือ อาการคันรอบๆบริเวณที่ถูกกัด หรือคันแขนขาข้างที่ถูกกัด อาจมีอาการชา เจ็บเสียวรอบๆบริเวณที่ถูกกัด
  2. ระยะอาการทางระบบประสาท แบ่งย่อยได้เป็น -อาการกลัวน้ำ จะมีอาการตึง แน่นในลำคอ กลืนอาหารแข็งได้ แต่กลืนอาหารเหลวลำบาก เวลากินน้ำจะสำลัก และเจ็บปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อใน ลำคอกระตุกเกร็ง

    ภาพที่อธิบายไว้ถึงอาการกลัวน้ำ คือ ผู้ป่วยหิวน้ำ พยายามเอื้อมมือหยิบถ้วยน้ำมาจิบช้าๆ แต่พอถ้วยยาแตะริมฝีปาก ผู้ป่วยเริ่มมือสั่น หายใจสะอึก เห็นกล้ามเนื้อลำคอกระตุกเกร็ง แหงนหน้าขึ้น พ่นน้ำพ่นน้ำลายกระจายทั่ว ถ้วยหล่นจากมือพร้อมทั้งเปล่งเสียงร้อง แสดงความเจ็บปวดไม่เป็นภาษาคน บางคนที่กล้ามเนื้อควบคุมสายเสียงเป็นอัมพาต จะได้ยินคล้ายเสียงหมาเห่าหอน ผู้ป่วยจะตายใน 2-3 วันหลังจากมีอาการกลัวน้ำ

    -อาการกลัวลม ผู้ป่วยจะสะดุ้งผวาเมื่อถูกลมพัด
    -อาการประสาทไว ผู้ป่วยจะกลัว สะดุ้งเกร็งต่อสัมผัสต่างๆ ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่อยากให้ใครมาถูกต้องตัว
    -อาการคลุ้มคลั่งประสาทหลอน ผู้ป่วยอาจอาละวาด ดุร้ายน่ากลัว
    -อาการอื่นๆ เช่นมาด้วยอัมพาต

  3. ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว เข้าสู่ระยะโคม่า ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา จะมีชีวิตไม่เกิน 7 วัน หลังจากเริ่มอาการนำและอยู่ไม่เกิน 3 วัน หลังมีอาการทางระบบประสาท

7) ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกสุนัขข่วน,กัด ?

  1. รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง พยายามล้างให้เข้าถึงรอยลึกของแผล ถ้าไม่มีสบู่ใช้ผงซักฟอกแทนก็ได้
  2. ทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเช่น 70% alcohol
  3. ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลายซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก
  4. ถ้าสามารถเฝ้าดูอาการสัตว์ (กรณีที่มีเจ้าของ หรือทราบตัวเจ้าของ) ควรกักขังและเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 10 วัน
  5. กรณีที่สัตว์ตาย ควรนำส่งเพื่อตรวจหาเชื้อด้วย
  6. ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ วัคซีนป้องกันบาดทะยักทันที
ไม่ว่าจะสามารถเฝ้าดูอาการได้หรือไม่ โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของหรือกัดแล้วหนี ควรมา รพ.ทันที ไม่ควรและไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สุนัขมีอาการก่อน เพราะระยะฟักตัวทั้งในคนและสัตว์ไม่แน่นอน (เป็นช่วงที่กว้าง)

คนอาจมีอาการก่อนสัตว์ได้

ประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าของสัตว์,สัตว์มีเจ้าของไม่เคยออกนอกบ้าน ไม่เคยไปกัดกับใคร อาจช่วยลดโอกาสการเป็นโรคของสัตว์ดังกล่าวลง แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่เป็นโรค เพราะฉะนั้นควรปฏิบัติ ตามข้อ1-6 เหมือนเดิม

กรณีที่เป็นแผลฉีกขาด

อาจทำแผลไปก่อน โดย ยังไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลสกปรก โอกาสติดเชื้อจะสูงมาก โดยเฉพาะถ้าเย็บแผล

References

  1. นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์ www.thaiclinic.com
  2. http://www.cdc.gov/ncidod/dvrd/rabies/
  3. http://healthlink.mcw.edu/article/907109508.html
  4. http://www.metrokc.gov/health/prevcont/hdcv.htm
  5. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการปฏิบัติงานเรื่อง การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค. กรุงเทพมหานคร : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย 2542.
  6. ธีรพงษ์ ตัณฑวิเชียร. ประสบการณ์การรักษาและแนวทางป้องกันโรคในประเทศไทย ใน : นลินี อัศวโภคี บรรณาธิการ. ประสบการณ์ด้านโรคติดเชื้อในประเทศไทย. กรุงเทพ : โฮลิสติก พับบลิชชิ่ง จำกัด, 2542. 146-149
  7. นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย กันยายน 2544 กองระบาดวิทยาและกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  8. Beneson, A.S. Control of Communication Diseases in Man. American Public Health Association, Washington, D.C., 1995.382.
  9. สถานการณ์โรคเด่น 2543 ปีที่ 3 ฉบับ 1-6 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  10. HARISON‘s Principls of Internal Medicine 15th Edition CD-ROM
  11. เอกสารองค์การอนามัยโลก http://www.who.int/emc-documents/rabies/whoemczoo966c.htm
  12. Communicable Disease Control in Thailand 2000, Department of communicable Disease Control, Ministry of Public Health, Thailand

ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค