การปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
30-40% ของโรคมะเร็งทั้งหมดสามารถป้องกันได้โดยเลือกกินอาหารและมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง
80% ของมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่
สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ ถ้าหยุดสูบ สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ถึง 60-70% การสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ และโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหัวใจ
การปฏิบัติตนดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ไม่เพียงแต่ป้องกันโรคมะเร็งเท่านั้น ยังสามารถป้องกันโรคหัวใจ (coronary heart disease) โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) และโรคเบาหวาน (adult onset diabetes)
- เลือกกินอาหารที่ประกอบด้วยธัญพืช เช่น ถั่วชนิดต่างๆ ข้าวกล้อง พืช ผักหลายๆอย่าง กินอาหารให้ครบ 5 หมู่คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน โดยกินอาหารให้หลากหลาย อย่ากินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเป็นประจำ
- กินผักและผลไม้สดให้มากเป็นประจำตามฤดูกาล (400-500 กรัมต่อวัน) เนื่องจากมีสารหลายชนิดที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้
- เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ และเค็มน้อย
- อาหารหลายชนิดมีสารก่อมะเร็ง
อาหารเนื้อสัตว์ ปิ้ง ย่าง รมควัน ควรห่อด้วยกระดาษอลูมิเนียมจะช่วยลดสารก่อมะเร็ง ไม่กินส่วนที่ไหม้เกรียม ควรใช้วิธีต้ม นึ่ง อบ หรือใช้ไมโครเวฟ
อาหารหมักใส่ดินประสิว (โปแตสเซียมไนเตรท) และสารไนไตรท์สามารถเปลี่ยนเป็นสารไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายใด้ จึงควรกินผักสดร่วมกับอาหารประเภทนี้
ในท้องถิ่นที่มีการระบาดของพยาธิใบไม้ในตับ ไม่กินปลาดิบๆสุกๆ (ลาบปลา, ก้อยปลา) ที่ทำมาจากปลาตะเพียน หรือปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด
ถ้ากินเนื้อสัตว์สีแดงมากเป็นเวลานาน จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
- เตรียมอาหารและเก็บอาหารให้ถูกต้อง ปลอดภัย อย่าเก็บอาหารไว้นานเกินไป
- ดื่มสุราแต่พอควร ถ้ามีความจำเป็น
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 10 แก้ว (ประมาณ 2,500 ซี.ซี.) รวมถึงนม กาแฟ เครื่องดื่มอื่นๆ และน้ำในอาหารด้วย
- ควบคุมน้ำหนักให้พอดี และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
Body Mass Index (BMI) = (น้ำหนักหน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย (ส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง)
น้ำหนักพอดี BMI ประมาณ 20-25
- หลีกเลี่ยงการสูดควันจากเตาที่ใช้ถ่านไม้ ถ่านหิน หรือจากการทำอาหาร
- ไม่สูบบุหรี่
- ทำจิตใจให้ผ่องใส ลดความเครียด
- สตรีปกติเมื่ออายุครบ 35, 40, 45, 50, 55, และ 60 ปีควรได้รับการตรวจ แปปสเมียร์ (Pap smear) เพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก และในระยะก่อนเป็นมะเร็ง
- สตรีทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และผู้ที่อายุ 45-60 ปีควรได้รับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ แมมโมแกรม (Mamogram) 1 ครั้งทุก 2 ปี
แผ่นพับ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2544 จำนวน 15,000 แผ่น การปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
|